จุกหลอก มีดีอย่างไร ในเด็กต่ำกว่า 1 ปี

ข้อดีของการใช้จุกหลอก

ข้อดีของจุกหลอก

จุกหลอก หรือ จุกนมหลอก หรือบางคนเรียกว่า จุกนมเทียม ยังคงมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ หรือ ในไทยเอง ก็มีการเลือกใช้จุกหลอกสำหรับทารกกันไม่น้อยเลยทีเดียว และเชื่อมั้ยคะว่ามีรายงานการทดลองล่าสุดของประเทศแคนาดาพบว่า ทารกกว่า 84% ต้องมีการใช้จุกหลอกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (1)

จุกหลอก คืออะไร?

จุกหลอก ก็คือ สิ่งที่ประกอบด้วยจุกนม ที่มีไว้สำหรับทารกน้อยได้ดูด แต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับทารกในการดูดนมหรือของเหลว และโดยปกติแล้วจะมีที่ป้องกันหรือที่จับหรือเป็นวงแหวนติดห้อยมาด้วย ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อยุ่ที่ฐานของหัวนม เพื่อป้องกันไม่ให้จุกนมหลอกเข้าไปในปากของทารกหมดทั้งอัน ที่จับหรือวงแหวนนี้มักจะติดอยู่กับจุกนมหลอกเพื่อใช้สำหรับจับหรือนำเข้าปาก ซึ่งสามารถหมุนได้โดยอิสระค่ะ (3)

จุกหลอก

จุกหลอกที่ปลอดภัยมีลักษณะสำคัญอย่างไร? (3)

ตามกฎข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น กำหนดเลยค่ะว่าการใช้จุกหลอกที่ปลอดภัยนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกสำลักหรือหายใจไม่ออก ซึ่งมีกฎข้อหนดที่คุณแม่สามารถนำไปใช้เลือกซื้อได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนี้ค่ะ:

1. จุกนมหลอกคงประกอบกันอยู่เป็นชิ้นเดียว หลังจากมีการทดสอบจากการดึงแยกออกจากกัน หรือเขย่าแรง ๆ เป็นต้น

2. จุกหลอกต้องได้รับการออกแบบและสร้างด้วยสิ่งที่ป้องกัน เช่นที่จับ หรือวงแหวน เพื่อป้องกันไม่ให้จุกนมหลอกเข้าไปปากของทารกและปิดกั้นหรือติดคอทารกน้อยนั่นเอง

ข้อกำหนดสำคัญสำหรับจุกนมหลอกคืออะไร? (3)

1. สิ่งป้องกัน :

อาทิเช่น วงแหวน ที่จับ หรือ ฐานที่ติบกับจุกนมหลอก ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กไม่สามารถกลืนจุกนมหลอกทั้งอันได้และเพื่อให้แน่ใจว่าจุกนมหลอกมีการระบายอากาศที่เพียงพอในขณะใช้งาน

2. ตัวจุกนมที่ยื่นออกมา :

จุกนมหลอกจำเป็นจะต้องถูกทดสอบให้มั่นใจว่าเมื่อทารกมีการใช้จุกนมหลอก มันจะไม่ถูกบีบหรือหลุดเข้าปากทารกหากทารกล้มหน้าคว่ำลง

3. ความสมบูรณ์ของโครงสร้าง :

ส่วนนี้รวมถึงการทดสอบที่ออกแบบมาเพื่อจำลองการใช้งานจริงและการทดสอบนี้ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าจุกนมหลอกจะไม่แตกออกจากกันและทำให้เด็กทารกเกิดอันตรายจากการสำลักชิ้นส่วนเล็ก ๆ

4. สายคล้องต่าง ๆ :

จุกนมหลอกไม่ควรขายพร้อมกับสายคล้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชือก ริบบิ้น สายโซ่ เส้นด้าย เป็นต้น

5. ฉลาก :

จุกนมหลอกควรมีป้ายฉลายติดคำเตือนให้เห็นอย่างชัดเจน อาทิเช่น ห้ามผูกจุกนมหลอกไว้รอบคอเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายจากการรัดได้ เป็นต้น

ข้อดีของจุกนมหลอก (4)

1. ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวติอย่างกะทันหันของทารก (SIDS) ซึ่งกุมารแพทย์หลายท่านในประเทศสหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้ใช้จุกนมหลอกเมื่อวางทารกลงเพื่องีบหลับหรือก่อนนอน เพื่อช่วยลด SIDS อย่างไรก็ตาม อย่าติดสายรัดที่คอหรือเปลซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการสำลักได้

2. ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งมีการศึกษาเลยค่ะว่า มารดาที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสามารถให้นมแม่ได้ดีขึ้น หากทารกใช้จุกนมหลอก การลดการร้องไห้ของทารกให้น้อยที่สุด เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้า อารมณ์เปราะบาง และหงุดหงิดง่าย เพราะเมื่อทารกเรียนรู้ที่จะปลอบประโลมตัวเองด้วยการใช้จุกนมหลอก ก็จะทำให้คุณแม่มีเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยระหว่างการให้นมลูก ทำให้ความเครียดจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวน้อยลง ในกรณีนี้ก็ถือว่าการใช้จุกนมหลอกจะช่วยสนับสนุนทั้งคุณแม่และลูกน้อยเลยล่ะค่ะ

3. การใช้จุกนมหลอกช่วยหันเหหรือลดความสนใจจากสิ่งเร้าที่ทำให้ทารกกำลังอารมณ์เสีย เครียด หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การใช้จุกนมหลอกขณะทารกกำลังฉีดวัคซีน เป็นต้น มีการบันทึกไว้เลยนะคะว่าการให้จุกนมหลอกสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ มันจะช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดของทารกและทำให้พวกเขารู้สึกสบายตัวขึ้นค่ะ

การใช้จุกนมหลอกช่วยหันเหหรือลดความสนใจจากสิ่งเร้าที่ทำให้ทารกกำลังอารมณ์เสีย

4. การใช้จุกนมหลอกในทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่งผลต่อการอยู่หรือนอนโรงพยาบาลสั้นลง และสามารถกินนมขวดได้ดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแสดงให้เห็นเลยนะคะว่า การย่อยอาหารของทารกดีขึ้นเมื่อดูดจุกนมหลอกในระหว่างการดูดนม โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่น้อยกว่า 32 สัปดาห์

5. การใช้จุกนมหลอกสามารถช่วยให้ทารกน้อยรู้สึกสะดวกกับการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางทางอากาศอย่างเครื่องบิน นั่นเป็นเพราะการดูดจุกหลอกจะช่วยให้การเคลื่อนไหวของขากรรไกรในการดูด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหูชั้นกลางซึ่งทำให้ทารกรู้สึกถึงแรงกดอากาศหรือหูอื้อน้อยลงค่ะ

คำแนะนำง่าย สำหรับการใช้จุกหลอก (5)

1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจุกนมหลอกเป็นจุกแบบชิ้นเดียวก่อนใช้งานเสมอ

2. อย่าใช้จุกนมหลอกกับอุปกรณ์ในตัวชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้หรือมีการออกแบบโดยมีของเหลวอยู่ข้างใน ซึ่งหากมีการฉีกขาด อาจเป็นอันตรายสำหรับเด็กได้

3. ใช้จุกนมหลอกที่ฐานแบบปิดผนึกแน่นหนากับตัวจุกนมหลอก

4. อย่าแขวนจุกนมหลอกไว้กับเชือกหรือสายห้อยรอบคอของทารก

5. อย่านำจุกนมหลอกไปจุ่มในน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือน้ำตาลรูปแบบอื่น ๆ

6. ทำความสะอาดจุกนมหลอกเป็นประจำ แนะนำให้ต้มจุกนมหลอก หากทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน

7. เปลี่ยนจุกหลอกหากเกิดความเสียหาย หรือพลาสติกเริ่มแตกหรือมีพื้นผิวที่แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ

8. ปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำสำหรับการหย่าจุกนมหลอก เมื่อลูกมีอายุครบ 1 ขวบ

ทริคเล็ก สำหรับการเลิกใช้จุกนมหลอก (2)

1. จำกัดเวลาที่คุณจะอนุญาตให้ลูกใช้จุกนมหลอกได้ เช่น ใช้สำหรับเวลานอน หรือเพื่อความสะดวกสบายของลูกน้อยจนถึงอายุ 12 เดือน หลังจากนั้นควรวางแผนว่าจะรับมืออย่างไรให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอกด้วยนะคะ

2. อย่าใช้จุกนมหลอกเป็นเครื่องต่อรอง การลงโทษหรือบังคับลูกให้ทำในสิ่งนั้น ๆ

3. ให้ลูกของคุณได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะเลิกใช้จุกนมหลอก โดยให้เขาเลือกว่าจะทิ้งมันไป หรือ จะใช้ทริคที่แม่เคยใช้เช่น เราจะทิ้งไว้ใต้หมอนเพื่อให้เทพเจ้าฟันน้ำนมดูแลต่อไป เป็นต้นค่ะ

4. ให้รางวัลกับลูกเมื่อลูกมีการตอบสนองที่ดีในการจะเลิกใช้จุกหลอก

5. ชมเชยลูกเสมอเมื่อพวกเขาไม่ใช้จุกหลอนในบางสถานการณ์ ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจว่าพวกเขาได้โตขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้วนะ

6. ปล่อยให้ลูกของคุณได้แสดงความรู้สึกของพวกเขาและถ้าลูกของคุณรู้สึกกำลังโกรธ หรืออารมณ์เสีย แทนที่จะใช้จุกนมหลอก คุณแม่ก็สามารถกอดเพื่อสร้างความอบอุ่น ความมั่นใจให้พวกเขาแทน เป็นต้น

7. หากลูกยังคงขอจุกนมหลอกเรื่อย ๆ ใจแข็งเข้าไว้ค่ะคุณแม่ เตือนพวกเขาว่า จุกนมหลอกหายไปแล้ว และพวกเขาก็ไม่ต้องการมันอีก เพราะหนูโตแล้วนะคะ

หากลูกยังคงขอจุกนมหลอกเรื่อย ๆ ใจแข็งเข้าไว้ค่ะคุณแม่

คุณแม่หลาย ๆ คนเคยสังเกตเห็นทารกน้อยเกิดความอยากดูด ทำปากจ๊วบ ๆ ตลอดเวลา หรือบางคนอาจถึงขั้นดูดนิ้วโป้งหรือนิ้วอื่น ๆ ก่อนคลอดด้วยซ้ำ ซึ่งนี่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการ นอกจากจะช่วยให้พวกเขารู้สึกสบายใจ ยังช่วยให้พวกเขารู้สึกสงบได้อีกด้วย การใช้จุกนมหลอก ก็ถือเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ตอบสนองความต้องการของทารกในการดูด อย่างไรก็ตาม คุณแม่ก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมและไม่ควรใช้แทนการให้อาหาร หรือใช้เพื่อความสะดวกสบายของตัวคุณแม่เอง ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยทารกให้ผ่อนคลายได้ด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการกอด (2) ไม่อย่างนั้น จุกหลอก อาจกลายเป็น จุกหลอน เพราะลูกอาจจะอยากดูดแต่จุกหลอก จนไม่อยากกอดคุณแม่เอาได้นะคะ…..อิอิ


Resources :
(1) Recommendations for the use of pacifiers
(2) Pacifiers (soothers): A user’s guide for parents
(3) Pacifiers Business Guidance
(4) The Pros and Cons of Pacifier Use
(5) How to Use a Pacifier