เคล็ดลับการให้นมแม่ ฉบับมนุษย์แม่ออฟฟิศ

วันลาคลอดจะหมดแล้ว วางแผนการให้นมแม่กันเถอะ

เคล็ดลับการให้นมแม่ ฉบับมนุษย์แม่ออฟฟิศ (วันลาคลอดจะหมดแล้ว วางแผนการให้นมแม่กันเถอะ)

คุณแม่หลาย ๆ คนที่เลือกนมแม่เป็นหลักให้กับลูกน้อย เมื่อต้องกลับไปทำงานคงเป็นการทำใจที่ยากไม่น้อย ไหนจะคิดถึงลูกเอย กลัวความผูกพันของลูกกับแม่จะลดลงบ้างเอย แล้วคนที่มาดูแลลูกต่อจากเราเมื่อต้องกลับไปทำงาน จะทำได้ดีแค่ไหน แล้วไหนยังต้องวางแผนล่วงหน้าสำหรับการกลับไปทำงานอีก ซึ่งเป็นความหนักใจของคุณแม่หลาย ๆ คนไม่น้อยเลยทีเดียวใช่มั้ยคะ? แต่หากคุณแม่สามารถวางแผนสิ่งเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าได้แล้วล่ะก็ จะช่วยให้คุณแม่มีความสุขกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานขึ้นหลังการลาคลอดสิ้นสุดลง ไปพร้อม ๆ กับการช่วยให้คุณแม่ซึ่งต้องกลับไปทำงาน ก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

คำแนะนำต่าง ๆ นี้อาจจะช่วยให้คุณแม่ที่กำลังจะกลับไปทำงาน ได้เตรียมพร้อมและเตรียมตัวได้ทันท่วงที เพราะเมื่อการลาคลอดสิ้นสุดลง คุณแม่ต้องมีอะไรเยอะแยะมากมายในหัวที่ต้องจัดการ ลองไปดูกันตามหัวข้อที่จำแนกได้ ดังนี้ค่ะ

วางแผนการให้นมแม่: เตรียมความพร้อมขณะตั้งครรภ์ (1)

สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้ในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมลูกหลังจากกลับไปทำงาน

1. คุณแม่สามารถเรียนรู้จากคลาสการให้นมแม่เพิ่มเติมก่อนได้ค่ะ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลที่คุณแม่วางแผนจะคลอดลูก ก็มีคลาสเรียนเหล่านี้ ซึ่งจะให้คำแนะนำและเคล็ดลับมากมายสำหรับการให้นมแม่ และต้องทำอย่างไรเพื่อให้ลูกยังได้กินนมแม่เมื่อต้องกลับไปทำงาน

2. เข้าร่วมกลุ่มของแม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะมี คลับสำหรับแม่ ๆ ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาแบ่งปันประสบการณ์ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขณะที่เราต้องกลับไปทำงาน ซึ่งคุณแม่ก็จะได้ฟังประสบการณ์จริงจากคุณแม่คนอื่น ๆ ที่เคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ที่พร้อมจะให้คำแนะนำกับคุณแม่ค่ะ

3. การดูวีดีโอที่ช่วยสอนเคล็ดลับและวิธีต่าง ๆ กับคุณแม่ที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งวีดีโอที่เผยแพร่จากทางโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ ที่จะทำให้คุณแม่ได้ศึกษาวิธีการให้นมลูกอย่างถูกวิธี รวมถึงเคล็ดลับต่าง ๆ หลังจากกลับไปทำงานค่ะ

4. พูดคุยกับเจ้านาย รวมถึงเพื่อนร่วมงานของคุณเกี่ยวกับแผนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนที่คุณจะลาคลอด คุณแม่อาจจะหาข้อมูลด้วยข้อเท็จจริงไปประกอบด้วยก็ได้นะคะ ว่าปัจจุบันมีองค์กรหลาย ๆ แห่ง สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อทำความเข้าใจกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อหาวิธีและแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบต่องาน

5. พูดคุยเกี่ยวกับตารางงานประเภทต่าง ๆ กับหัวหน้าของคุณแม่ให้ชัดเจน เช่น การทำงานล่วงเวลาในช่วงแรก ๆ เมื่อกลับไปทำงาน

6. เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิที่คุณแม่จะได้รับภายใต้กฎหมายในเรื่องของระยะเวลาลาคลอดที่กำหนดโดยรัฐบาล เงินชดเชยในเรื่องของรายได้ ประกันสุขภาพต่าง ๆ ที่ทางบริษัทให้แก่พนักงาน รวมไปถึงพื้นที่ทำงานและเวลาที่คุณแม่อาจจะต้องปั๊มนมเก็บไว้เป็นสตอคให้ลูกค่ะ

7. คุณแม่ต้องดูด้วยว่า บริษัทที่คุณแม่ทำงานอยู่นั้น มีข้อเสนอโปรแกรมสนับสนุนการให้นมบุตรสำหรับพนักงานหรือไม่ คุณแม่อาจจะพูดคุยกับคุณแม่คนอื่น ๆ ที่อาจมีการให้นมลูกหลังคลอดเหมือนคุณแม่ เพื่อจะได้ขอคำแนะนำจากแม่ ๆ คนอื่น ๆ เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงานหลังคลอด จะได้ไม่ฉุกละหุกค่ะ

8. สำรวจตัวเลือกการดูแลเด็ก ค้นหาว่ามีสถานที่ดูแลเด็ก ที่ไกล้กับบ้านคุณแม่หรือที่ทำงานคุณแม่หรือไม่ เพื่อที่คุณจะได้แวะไปเยี่ยมลูกได้ในเวลาพักกลางวัน หรือ ช่วงพักอื่น ๆ รวมถึงการสอบถามว่าสถานที่ดูแลเด็กนั้น ๆ มีพื้นที่ให้กับคุณแม่ได้ให้นมลูกหรือไม่ ก็เป็นการช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมลูกเองในระหว่างวันได้ค่ะ

วางแผนการให้นมแม่: เตรียมความพร้อมขณะลาคลอด? (1)

คุณแม่สามารถทำอะไรได้บ้างในขณะลาคลอด?

เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จมากขึ้น หลังจากคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน คุณแม่สามารถ:

1. หยุดพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การลาคลอดอย่างน้อย 6 สัปดาห์ก็สามารถช่วยให้คุณแม่ได้ฟื้นตัวจากการคลอดลูก และเข้าสู่กิจวัตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีได้ค่ะ

2. ฝึกการปั๊มนมด้วยมือ หรือ เครื่องปั๊มนมในรูปแบบต่าง ๆ จะหลายครั้งต่อวัน หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แล้วแต่คุณแม่จะสะดวกช่วงไหนเลยค่ะ เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน หากจะต้องการให้ลูกกินนมแม่แล้วนั้น การปั๊มนมแม่ถือเป็นวิธีที่จะทำให้ลูกได้กินนมแม่ตราบนานเท่านาน คุณแม่หลาย ๆ คน รวมถึงตัวแม่เอง รู้สึกเลยค่ะว่าการปั๊มนมให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการให้นมแม่จากเต้า และคุณแม่หลาย ๆ คน พบว่าการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนม หรือ ปั๊มด้วยมือนั้น จะทำได้ดีก็ต่อเมื่ออยู่ใสภาพแวดล้อมที่ไม่ตึงเครียด และผ่อนคลาย

3. การปั๊มนมอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการนำเอาน้ำนมออกอย่างรวดเร็ว ขณะคุณแม่อยู่ระหว่างการทำงาน เครื่องปั๊มนมแบบแฮนด์ฟรีอาจช่วยให้คุณแม่สามารถทำงานในขณะปั๊มไปได้ หากต้องทำงานในออฟฟิศค่ะ

4. คุณแม่สามารถปั๊มนมในขณะที่ลูกน้อยกำลังหลับหรือมีคนอื่นช่วยดูแล เพราะการสร้างปริมาณนมแม่ที่เพียงพอสำหรับผู้ดูแลลูกน้อยในขณะที่คุณกำลังงานอยู่ ก็จะทำให้ลูกได้กินนมแม่ล้วนอย่างเพียงพอ

5. ช่วยลูกน้อยของคุณแม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับการกินนมแม่จากขวดนมหรือถ้วย เพราะแน่นอนว่าเมื่อคุณต้องกลับไปทำงาน การใช้ขวดนมหรือถ้วยในการป้อนนมลูก ก็จะเป็นวิธีการที่ง่ายสำหรับผู้ที่จะดูแลลูกน้อยของเราขณะเราทำงาน แต่แนะนำว่าควรรออย่างน้อย 1 เดือนหลังคลอดและเริ่มต้นด้วยขวดนมก่อน หลังจากลูกน้อยอายุ 3-4 เดือน ลูกน้อยอาจดื่มจากถ้วยได้

6. พูดคุยกับครอบครัว และคนที่จะช่วยดูแลลูกของคุณแม่ เกี่ยวกับความต้องการที่คุณแม่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด แจ้งให้พวกเขาทราบว่าคุณแม่ต้องการสนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่มากแค่ไหน และพวกเขาสามารถช่วยเหลือคุณแม่ได้อย่างไรบ้าง

ฝึกการปั๊มนมด้วยมือ

การวางแผนการทำงานเมื่อต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (2)

1. วางแผนที่จะกลับไปทำงานในช่วงกลางของสัปดาห์ของการทำงานปกติหากคุณแม่สามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณแม่ทำงานในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ก็ขอให้วันแรกของคุณแม่ที่จะกลับมาทำงานนั้น เป็นวันพุธแทน เพราะสองสามวันแรกน่าจะยากที่สุดสำหรับตัวคุณแม่และลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นในด้านของอารมณ์ คุณแม่จะต้องสร้างสมดุลให้กับชีวิตทั้งในเรื่องงานก็ดี การปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกน้อยก็ดี หรือรวมไปถึงการจัดการดูแลลูกด้วยค่ะ

2. วางแผนเวลาเพิ่มเติมเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในตอนเช้า เพื่อที่คุณแม่จะได้ใช้เวลากับลูกน้อย เตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดของคุณแม่ให้พร้อม คุณแม่ที่ต้องใช้เครื่องปั๊มนมและชุดอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ขวดนม ถุงเก็บน้ำนม แพคน้ำแข็ง หรือ กล่องใส่ถุงนมเพื่อให้ความเย็น หรือหากที่ทำงานของคุณแม่มีตูเย็น ก็สามารถใช้ได้ค่ะ อ้อ!! อย่าลืมนำแผ่นซับน้ำนมมาด้วยนะคะ เพราะบางครั้งเมื่อเต้านมคัด น้ำนมอาจจะไหลออกมา คงเป็นเรื่องน่าอายอยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ

3. จัดทำตารางเวลา โดยปกติคุณแม่ต้องปั๊มนมตอนเช้า กลางวัน และตอนบ่อาย เพื่อทดแทนการให้นมแม่ทั้งหมดที่คุณแม่จะให้กับลูกน้อยเมื่ออยู่กับเขา แต่หากคุณแม่ทำงานกะนานขึ้น คุณแม่อาจต้องจัดตารางเวลาที่ต้องปั๊มนมหลาย ๆ ครั้ง เมื่อลูกไม่ได้กินนมแม่จากเต้าในขณะที่คุณแม่ทำงานอยู่

4. พยายามอย่าพลาดเวลาปั๊มนมและแจ้งให้นายจ้างและเพื่อนร่วมงานทราบว่า นี่เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนอย่างคุณ หากตารางเวลาที่คุณวางแผนไว้ ไม่ได้ผล ให้คิดแผนใหม่ร่วมกันเพื่อจะตอบสนองความต้องการทั้งของคุณแม่เองและนายจ้างเอง เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในช่วงเวลาทำงาน

5. เมื่อคุณแม่ได้อยู่กับลูกน้อยในวันหยุดพักผ่อน วางแผนที่จะให้นมลูกน้อยทุกตรั้งที่ลูกของคุณแม่แสดงอาการหิว ก่อนกำหนด หากสังเกตเห็นว่าปริมาณน้ำนมของคุณแม่เริ่มลดลงในช่วงสัปดาห์ทำงาน คุณแม่สามารถเพิ่มปริมาณนมได้โดยการให้นมแม่บ่อยขึ้นเมื่อยู่ด้วยกัน การใช้เวลาอุ้มให้นมลูกและเพลิดเพลินกับลูกน้อย ไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสของคุณแม่ในการสร้างปริมาณน้ำนมให้มากขึ้น แต่ยังช่วยให้ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

หากลูกติดเต้า ไม่ยอมกินนมจากขวด จะทำอย่างไร?(3)

เป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับแม่เหมือนกันค่ะ จากประสบการณ์ที่ลูกติดเต้าทั้งคู่ แต่ก็ไม่ได้สร้างความกังวลให้แม่มากนัก เนื่องจากแม่เป็นแม่ฟูลไทม์ แต่มาตระหนักถึงปัญหานี้ก็เมื่อแม่ต้องไปทำธุระข้างนอก ซึ่งไม่สามารถนำลูกไปด้วยได้ จึงจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับคนอื่น และลูกก็ปฏิเสธการกินนมจากขวด เนื่องจากติดเต้าแม่ซะแล้ว หากคุณแม่คนไหนกำลังประสบปัญหานี้อยู่ทั้งคุณแม่ที่จำเป็นต้องกลับไปทำงานก็ดี หรือแม่ฟูลไทม์แบบแม่ก็ดี ลองไปดูคำแนะนำดี ๆ กันเลยค่ะ

1. หากคนที่ต้องให้นมลูกน้อย ไม่ใช่คุณแม่ ลองให้พวกขาห่อขวดนมด้วยสิ่งที่มีกลิ่นของคุณแม่ดูค่ะ เช่น เสื้อผ้า หรือ ผ้าที่ใช้เช็ดนมแม่ เป็นต้น

2. ลูกน้อยบางคนชอบการให้นมขวดแบบ skin to skin ในท่าให้นมที่พวกเขาชอบ คุณแม่ลองใช้วิธีนี้เมื่อต้องป้อนนมลูกกับขวดหรือถ้วยดูค่ะ

3. คุณแม่อาจให้ลูกน้อยได้นอนหนุนตัก หรือ หนุนอก ซึ่งจะทำให้เบี่ยงเบนความสนใจจากลูกน้อยได้ โดยพวกเขาจะสามารถดูสิ่งที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ในห้อง หรือนอกหน้าต่าง หรือการให้นมลูกในที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะหรือ ห้างสรรพสินค้า ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ลูกน้อย จนลืมไปว่าไม่ได้กินนมจากเต้า แต่เป็นการดูดจากขวดนมแทน คุณแม่อาจจะลองโยกหรือเดิน หรือจับลูกน้อยนั่งบนเก้าอี้โยก เก้าอี้ล้อเลื่อน ก็ทำให้ลูกน้อยได้สัมผัสกับบรรยากาศใหม่ ๆ ไม่แน่นะคะ คุณแม่อาจจะค้นพบวิธีที่ลูกชอบจนลืมเต้าแม่ไปเลย

คุณแม่อาจให้ลูกน้อยได้นอนหนุนตัก

4. ลองใช้จุกนมชนิดต่าง ๆ ลูกน้อยของคุณแม่อาจจะชอบจุกนมที่นิ่มกว่าซึ่งออกแบบมาสำหรับทารกหลังคลอดหรือคลอดก่อนกำหนด หรือทารกบางคนอาจชอบจุกที่มีความยาว ความกว้าง หรืออัตราการไหลของน้ำนมที่แตกต่างกัน การใช้จุกนมที่ดีและเหมาะสมก็ช่วยให้ลูกน้อยอยากดูดนมจากขวดมากขึ้นค่ะ

5. ลองเปลี่ยนอุณหมูของจุกนมดูค่ะ เช่น ใส่ไว้ในตู้เย็น หรือ ใช้น้ำอุ่น ซึ่งแล้วแต่ความชอบของทารกแต่ละคน ลูกของแม่สองคน คนโตชอบจุกนมแบบอุ่น ๆ แต่คนเล็กชอบแบบเย็น ๆ มากกว่า หรือคุณแม่ก็ลองเปลี่ยนอุณหภูมิของนมดูด้วยก็ช่วยได้นะคะ เพราะนมแม่โดยตรงจากเต้านมจะมีความอุ่น เด็กบางคนชอบอุณหภูมินั้นในขณะที่บางคนอาจจะชอบอุณหภูมิห้อง หรือแม้กระทั่งชอบนมเย็นส่งตรงจากตู้เย็นก็มีค่ะ

6. หากลูกน้อยของคุณแม่ยังไม่อยากกินขวดนมทันทีทันใด อย่าตกใจนะคะ ทารกส่วนใหญ่จะใช้เวลาหนึ่งในที่สุดโดยคุณแม่อาจจะเล้าโลม ปลุกระดมกันเล็กน้อย ลองมันอีกครั้งในภายหลังที่ลูกอยู่ในอารมณ์ที่ผ่อนคลายและขี้เล่นขึ้น

7. ทารกที่มีสุขภาพดีและเติบโตดี จะสามารถทิ้งช่วงห่างของการกินนมเป็นเวลาหลายชั่วโมงได้ บางครั้งลูกเจอเรากลับมาจากทำงาน ก็จะอยากอ้อนขอกินนมจากเต้า แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยของคุณแม่หิวนะคะ เพียงแต่เขาอยากจะอยู่กับคุณแม่เท่านั้น ลองเบี่ยงเบนพวกเขาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือ ร้องเพลง นอนเล่นในรถเข็น เป็นต้นค่ะ

8. ด้วยความไวต่อความต้องการของทารกและการสัมผัสได้ของลูกน้อย ว่าคนที่ให้นมขวดอยู่นี่ ไม่ใช่คุณแม่ของเขานี่นา ผู้ดูแลควรให้เวลากับพวกเขา และไม่ควรคาดหวังว่าพวกเขาต้องกินนมทุกครั้งที่คุณป้อน เพราะฉะนั้นตราบใดที่ลูกน้อยของคุณรู้สึกปลอดภัยและมีความสุข ก็ปล่อยให้พวกเขาได้ทำอะไรตามใจเขาไปก่อน การบังคับจะทำให้เกิดการต่อต้านการกินนมจากขวดได้ค่ะ

หวังว่าคำแนะนำดี ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่หลาย ๆ คนที่ต้องกลับไปทำงาน และยังมีความวิตกกังวลใจว่าเราจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ลองนำเคล็ดลับดี ๆ เหล่านี้ไปปรับใช้กันนะคะ แม่เป็นอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนการให้นมแม่ และจะเป็นหนึ่งกำลังใจให้กับคุณแม่ทุก ๆ ท่านได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตราบนานเท่านานเลยค่ะ และลูกเองก็อยากจะกินนมแม่อร่อย ๆ เช่นกัน อย่างลูกแม่สองคนที่บ่อยครั้ง ยังถามหานมแม่ทั้งที่หย่านม หย่าเต้ากันไปหลายปี เพราะพวกเขายังจำได้ดีว่านมแม่นี้มีประโยชน์และอร่อยมากแค่ไหน สู้ ๆ นะคะคุณแม่ทุกท่าน………


Resources:

(1) Breastfeeding and going back to work
(2) Returning to Work
(3) Bottles and Other Tools