อีกไม่กี่อึดใจแล้วสินะคะ ว่าที่คุณแม่หลาย ๆ คนที่กำลังจะได้สัมผัสถึงกระบวนการคลอดลูกที่บอกเลยค่ะว่า เป็นสิ่งน่าทึ่งและมหัศจรรย์ที่สุดในชีวิตของคนเป็นแม่แล้วก็ว่าได้ ช่วงนี้อยากแนะนำให้คุณแม่หมั่นนับลูกดิ้น และทานอาหารบำรุงครรภ์ที่มีประโยชน์ รวมไปถึงวิตามินสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ตามที่แพทย์แนะนำด้วยนะคะ แต่เอ๊ะ !! แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือสัญญาณเตือนของการเจ็บครรภ์ วันนี้เราจะได้ไปดูวิธีการสังเกตและรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการเจ็บท้องเตือน เจ็บท้องจริง และจะมีวิธีการใดบ้างที่ช่วยให้คุณแม่ได้บรรเทาความเจ็บปวด และรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อใกล้ถึงเวลาคลอดค
การหดตัวของมดลูกที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ นี้แหละค่ะที่อาจเป็นสัญญาณย่อม ๆ ว่าคุณแม่กำลังจะคลอดบุตร คุณแม่บางคนอาจบ่น ๆ ว่ารู้สึกปวดหลัง ปวดท้อง ในบางครั้งอาจมีของเหลวรั่วออกมา หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดด้วยนะคะ ซึ่งหากเกิดสัญญาณเหล่านี้แล้ว คุณแม่ควรโทรหาคุณหมอที่ดูแล เพราะจริง ๆ แล้วการคลอดก่อนกำหนดสามารถเริ่มได้ก่อนการตั้งครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ (อ่านเพิ่มเติม พัฒนาการทารกในครรภ์คุณแม่ ตลอด 40 สัปดาห์) อีกทั้งหากคุณแม่บางคนที่มีภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดโดยการผ่าตัดคลอด คุณแม่จะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยและทันท่วงทีค่ะ
สัญญาณการเจ็บท้องจริง
เมื่อใกล้ถึงวันครบกำหนดคลอดคุณแม่จะเริ่มสังเกตและมองเห็นสัญญาณเล็กๆน้อยๆที่บ่งบอกว่าโอ๊ยๆๆนี่เรากำลังจะคลอดลูกเป็นแน่แท้เพราะคุณแม่จะสังเกตเห็นเลยค่ะว่าทารกน้อยได้เคลื่อนตัวต่ำลงไปอยู่ในบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานของคุณแม่แล้วหรือที่เรียกว่า “ภาวะท้องลด” นั่นเองค่ะหากคุณแม่มีการตรวจกระดูกเชิงกรานในระหว่างที่คุณแม่ไปฝากครรภ์กับคุณหมอคุณหมอก็สามารถวินิจฉัยได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกที่ขยายขึ้นและสามารถบอกได้ว่าคุณแม่กำลังนับถอยหลังกี่วันหรือกี่ชั่วโมงก่อนคลอดนั่นแสดงว่าร่างกายของคุณแม่กำลังเตรียมพร้อมสู่กระบวนการคลอดลูก
สัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่ากระบวนการคลอดลูกจะเริ่มในไม่ช้า ซึ่งคุณแม่ต้องรีบโทรหาแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์หากคุณมีอาการเจ็บครรภ์ดังต่อไปนี้ค่ะ :
1. มีการหดตัวของมดลูกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งมดลูกจะแข็งตัวบ่อย ๆ เป็นจัวหวะสม่ำเสมอ ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกปวดหน่วง ๆ หรือ เจ็บท้องน้อยร่วมด้วย คุณแม่จะมีการหดตัวอย่างแรงและสม่ำเสมอ การหดตัวคือการที่กล้ามเนื้อมดลูกมีความกระชับขึ้นเหมือนเรากำหมัดแล้วก็จะคลายตัวลง การหดตัวของมดลูกนี้เองที่ช่วยผลักดันให้ทารกน้อยออกมา การหดตัวของมดลูกจะคงอยู่ประมาณ 30 – 70 วินาทีและห่างกันประมาณ 5 -10 นาที ซึ่งมันจะทวีคูณความเจ็บปวดขึ้นจนคุณแม่ไม่สามารถเดินหรือพูดคุยอะไรได้มากเลยล่ะค่ะ
2. มีอาการปวดหลังส่วนก้นกบหรือบั้นเอวด้านหลังจนปวดร้าวลงมาที่หน้าท้อง และตระคริวที่ไม่หายไปสักที
3. น้ำคร่ำแตก อาจจะเป็นพลุ่งแตกครั้งละเยอะ ๆ หรือ หยดทีละน้อย ๆ อย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า “น้ำเดิน”
4. มีมูกปนเลือด อาจมีสีน้ำตาลหรือสีแดง ซึ่งมูกหรือเมือกเลือดนี้เองจะทำหน้าที่ปิดกั้นปากมดลูก แต่เมื่อมีการสูญเสียมูกหรือเมือกเลือดนี้แล้ว จะส่งผลให้ปากมดลูกของคุณแม่ขยายหรือเปิดขึ้น บางลง และนุ่มขึ้น
สัญญาณน้ำเดิน
ทารกน้อยเติบโตในน้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกของคุณแม่ แต่เมื่อถุงน้ำแตก คุณแม่บางคนอาจรู้สึกว่าน้ำพุ่งออกมาแบบไม่หยุดยั้ง หรือบางคนอาจจะรู้สึกแค่เพียงไหลเป็นหยด ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะรู้ อย่างประสบการณ์ลูกคนแรกที่แม่มีอาการน้ำเดินนั้น แม่เองก็แยกแยะไม่ได้ออกซะทีเดียว เนื่องจากใกล้คลอดนั้น ก็จะมีอาการปวดปัสสาวะ ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำอยู่บ่อย ๆ อยู่แล้ว จึงคิดว่าคงเป็นเพียงแค่ปัสสาวะเฉย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าของเหลวหรือน้ำคร่ำที่รั่วออกมาก็มีลักษณะออกมาเหมือนปัสสาวะ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ คุณแม่จะไม่สามารถควบคุมหรือกลั้นหยุดเหมือนถ่ายปัสสาวะได้เลย หรือสามารถทดสอบจากกลิ่น หากเป็นอาการของน้ำเดิน น้ำคร่ำจะไม่มีกลิ่น ในขณะที่เราสามารถรับรู้กลิ่นปัสสาวะได้นั่นเองค่ะ นอกจากนี้การสังเกตจากสีของน้ำคร่ำ ก็ช่วยให้คุณแม่สามารถแยกแยะออกได้ว่านี่คือปัสสาวะหรือน้ำคร่ำ เพราะบางครั้งหากจะมีสีแดงจากมูกเลือดปะปนมาด้วยค่ะ อย่างกรณีแม่เองที่มารู้ชัดเจนว่าน้ำคร่ำแน่แล้ว ก็ตอนที่มีเลือดปะป
นมาด้วย ซึ่งหากคุณแม่คิดว่ามีอาการน้ำเดินแล้วล่ะก็ โทรหาคุณหมอหรือไปโรงพยาบาลเลยนะคะ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนจะเกิดกระบวนการคลอดลูกในไม่ช้าหลังจากที่น้ำเดิน และเมื่อน้ำคร่ำแตก จะมีความเสื่องการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันเวลาค่ะ
สัญญาณการเจ็บท้องหลอก
คุณแม่หลายคนโดยเฉพาะคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกเป็นครั้งแรก อาจจะคิดว่า นี่เราอยู่ในภาวการณ์เจ็บครรภ์แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ในกระบวนการคลอดด้วยซ้ำ หรือที่เราเรียกว่า “เจ็บท้องเตือน” หรือ .”เจ็บท้องหลอก” เนื่องจากคุณแม่อาจจะรู้สึกถึงการหดตัวของมดลูกนั่นเอง ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้ค่ะ :
1. มีการหดตัวหรืออาการบีบรัด ซึ่งคุณแม่อาจรู้สึกเจ็บบริเวณท้อง ซึ่งร่างกายจะสร้างการเจ็บท้องหลอกแบบนี้มา เพื่อให้คุณแม่ได้เตรียมความพร้อม หรือฝึกซ้อมก่อนจะถึงเวลาคลอดลูกอย่างแท้จริง หรือเราเรียกการหดตัวนี้ว่า “Braxton Hicks” ค่ะ จะพบได้บ่อยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์หรือก่อนหน้านั้นก็ได้ การที่มดลูกกระชับหรือบีบรัดแน่นนี้ อาจทำให้คุณแม่ตกใจ บางคนอาจเจ็บปวดจนแทบหยุดหายใจก็มี จึงไม่น่าแปลกใจเลยใช่มั้ยล่ะคะ ว่าทำไมว่าที่คุณแม่หลาย ๆ คนจึงเข้าใจผิดว่าการหดตัวแบบ Braxton Hicks คือการที่เราเจ็บท้องเพื่อเตรียมคลอดจริง ๆ
2. การหดตัวจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบปกติ มันจะลดลงและหายไปเอง การเปลี่ยนแปลงกิจกรรม เช่น การเดินหรือการนอนราบ ทำให้การหดตัวแบบ Braxton Hicks หายไป
3. ไม่มีมูกหรือเมือกเลือดออกมาให้เห็น หรือไม่มีอาการของน้ำเดินเลยแม้แต่น้อยค่ะ
4. มีอาการเจ็บปวดบริเวณหน้าท้อง เหมือนปวดหน่วง ๆ แน่น ๆ แต่ก็ไม่ถึงขนาดปวดร้าวไปที่หลัง
วิธีการจัดการเมื่อ เจ็บท้องจริง
วิธีการทางธรรมชาติหลายอย่างช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและจัดการกับความเจ็บปวดได้มากขึ้น ได้แก่:
- การใช้เทคนิคการหายใจและการผ่อนคลาย
- อาบน้ำอุ่น หรือลองแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ
- การนวดจากผู้เชี่ยวชาญ
- ใช้ความร้อนและความเย้น เช่น ความร้อนที่หลังส่วนล่าง และผ้าเย็นที่หน้าผาก
- ได้รับการดูแล ช่วยเหลือจากคนที่คุณรัก หรือ พยาบาล
- หาตำแหน่งที่สะดวกสบาย เช่น ยืน หมอบ นั่ง เดิน
- ใช้ลูกบอลที่ทางโรงพยาบาลจัดไว้ให้ ซึ่งช่วยแม่ได้เยอะมาก ๆ ในการบรรเทาอาการปวด การจะนั่งยอง ๆ บนลูกบอล หรือโน้มตัวในท่าคว่ำไปหาลูกบอลก็ได้ค่ะ
- ฟังเพลงที่จรรโลงใจ
ทริคเล็ก ๆ จากแม่: ตอนแม่คลอดลูกคนแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา คุณหมอที่ดูแลแม่จะแนะนำคุณแม่ทุกคนในชั้นเรียนให้ทำถุงเท้าข้าวสาร Rice Sock โดยการหาถุงเท้ายาว ๆ มาข้างนึงค่ะ แล้วใส่ข้าวสารลงไป ใช้เชือกมัดปากถุงเท้าไว้ ก่อนที่จะใช้งานให้นำไปเข้าไมโครเวฟสัก 30 – 40 วินาที แล้วนำออกมาวางบนหน้าท้อง จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ดีเลยล่ะค่ะ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่นี่ค่ะ ลองนำไปใช้ดูนะคะ
แน่นอนค่ะว่า หัวอกคนเป็นแม่ทุกคนจะกังวลว่า เราจะรับมือกับความเจ็บปวดจากการคลอดได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาจริง ๆ ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะมีวิธีการรับมือที่แตกต่างต่างกันออกไป คุณแม่บางคนอาจรับมือกับความเจ็บปวดนี้ได้ดีด้วยวิธีธรรมชาติในการบรรเทาอากาปวด แต่คุณแม่บางคนก็อาจผสมผสานทั้งวิธีธรรมชาติเข้ากับตัวยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด การคิดบวกเกี่ยวกับการคลอดลูกและการจัดการกับความกลัวอาจช่วยให้คุณแม่บางคนสามารถรับมือกับความเจ็บปวดนี้ได้ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการเจ็บครรภ์ไม่เหมือนกับความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ แต่เกิดจากการหดตัวของมดลูกที่ดันให้ทารกน้อยออกมาจากช่องคลอดการเข้าโปรแกรมที่ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ จัดให้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ก็ช่วยให้คุณแม่รู้สึกคลายความกลัว และได้รับข้อมูลดี ๆ ได้อีกด้วยค่ะ