ปัญหาท้องผูกในเด็กแรกเกิด ลูกไม่ถ่ายหลายวัน ทำไงดี ?

ปัญหาท้องผูกในเด็กแรกเกิด

อึ้ อึ้ อึ้….เสียงคุณแม่กำลังช่วยลูกน้อยเบ่งอุจจาระอยู่หรือเปล่าคะ? ถ้าใช่แล้วล่ะก็ วันนี้แม่มีเคล็ดลับดี ๆ รวมถึงเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยากนำมาแบ่งปันให้กับคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องของท้องผูกที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยวัยแรกเกิด ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยใช่มั้ยล่ะคะ ที่คุณแม่จะทำความเข้าใจว่าทารกกำลังขับถ่ายผิดปกติอยู่หรือไม่ เนื่องจากลูกน้อยยังเล็กและไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ พวกเขาไม่สามารถบอกได้ว่า “แม่จ๋า ๆ หนูถ่ายไม่ออก” ทำให้บางครั้งเราคิดว่าลูกน้อยของเราอาจจะไม่มีอะไรผิดปกติ คงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่คุณแม่เปลี่ยนสูตรนมบ้าง หรือ คุณแม่ที่ให้นมอาจจะคิดว่าลูกน้อยของเรากินนมแม่ ซึ่งคุณแม่เองก็ดูแลโภชนาการกินครบทุกหมู่เป็นอย่างดี ลูกน้อยคงไม่มีปัญหาท้องผูกอย่างแน่นอน ใช่ค่ะ….จริงอยู่ที่นมแม่มีคุณค่าและสารอาหารที่เหลือล้น และร่างกายของลูกน้อยก็สามารถดูดซึมได้เกือบทั้งหมด เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อเคลื่อนผ่านทางเดินอาหาร ซึ่งบางครั้งทารกนมแม่อาจจะขับถ่ายแค่อาทิตย์ละครั้ง แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องปกติดมาก ๆ ค่ะ (1)

สำหรับในเด็กแรกเกิดบางคนที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ช้าลง ทำให้พวกเขาอาจจะไม่ได้ขับถ่ายบ่อยนัก และมีอุจจาระที่แข็งบ้างในบางครั้งบางคราว ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติเช่นกันนะคะ (1) แต่ในบางกรณีที่ลูกน้อยมีปัญหาท้องผูกขั้นรุนแรงและยาวนาน เช่น กล้ามเนื้อในลำไส้ไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็นหรือผิดปกติ มีการอุดตันในทางเดินอาหาร หรือมีปัญหาผิดปกติทางการแพทย์ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำจะดีที่สุดค่ะ

อาการท้องผูกของทารกเกิดจากอะไร? (2)

1. สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ลูกน้อยไม่ยอมเบ่งอุจจาระ เพราะคาดว่าจะมีอาการปวด จึงทำให้ขับถ่ายไม่ออก ซึ่งนั่นก็จะทำให้ปัญหาท้องผูกแย่ลงค่ะ

2. เมื่อเกิดอาการท้องผูก นั่นหมายถึง ลูกน้อยได้รับของเหลวไม่เพียงพอ

3. ปัญหาท้องผูกอาจจะเกิดยากซักหน่อยสำหรับทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เท่านั้น แต่จะพบบ่อยในเด็กทารกที่รับประทานนมผง หรือ นมสูตรผสมต่าง ๆ หรือทารกที่เริ่มรับประทานอาหารเสริมนั่นเอง

สัญญาณอะไรที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าลูกน้อยยังมีความปกติในเรื่องการขับถ่าย แม่จำแนกเป็นข้อ ๆ ดังนี้นะคะ (2)

1. อุจจาระของลูกน้อยอาจจะมีความแข็งหรือนุ่มนั้นก็ได้ค่ะ ก็ขึ้นอยู่กับอาหารหรือสิ่งต่าง ๆ ที่คุณแม่ป้อนให้พวกเขาค่ะ นอกจากนี้การขับถ่ายยังแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาหลังจากการรับประทานอาหารหรือกินนมค่ะ เพราะในแต่ละกระบวนการตั้งแต่การนำอาหารหรือนมเข้าปากจนถึงระบบย่อย อาจต้องใช้เวลานานจนแม่อาจกังวล แต่สุดท้ายแล้วระบบย่อยอาหารของพวกเขาจะสมบูรณ์ขึ้นเมื่อทารกโตขึ้นนั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นคุณแม่อาจต้องอดใจรอสักหน่อย เพื่อที่ทารกจะขับถ่ายออกมาค่ะ

2. คุณแม่บางคนอาจกังวลว่าลูกน้อยจะท้องผูกถ้าไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน แต่จริง ๆ แล้วนั้น ในเด็กแรกเกิดบางคนอาจจะมีการเคลื่อนไหวของลำไส้แต่ละครั้งซึ่งกินเวลาหลายวัน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาในการขับถ่ายที่คุณแม่กำลังกังวลอยู่แน่นอนค่ะ

3. ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่มักจะมีอุจจาระที่มีลักษณะค่อนข้างนิ่ม ไม่แน่น และบางครั้งก็เหลว อุจจาระของพวกเขาจะเริ่มแน่นขึ้นเล็กน้อยและจะไม่ขับถ่ายบ่อยเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ซึ่งเด็กทารกที่กินนมแม่ก็มีการขับถ่ายที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะถ่ายวันละหลาย ๆ รอบ บางคนก็แค่รอบเดียว หรือบางคนอาจจะมีการขับถ่ายอุจจาระเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ

4. ทารกที่รับประทานนมผงส่วนใหญ่ มักจะมีอุจจาระที่แข็งกว่าและมีการขับถ่ายที่น้อยกว่าทารกที่กินนมแม่เล็กน้อยค่ะ

5 .เมื่อลูกน้อยเริ่มเข้าสู่โหมดการให้อาหารเสริม (เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน) แน่นอนค่ะว่าอุจจาระของลูกจะเริ่มแน่นและแข็งมากกว่าตอนที่ยังกินแค่นม ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องตุ๊ต๊ะไปนะคะว่าอุจจาระลูกที่แข็งกว่าเมื่อก่อน ลูกอาจจะเจอปัญหาท้องผูกอยู่หรือไม่

6. ลักษณะของอุจจาระเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามปกติของลูกน้อยค่ะ การที่จะบ่งบอกว่าอุจจาระคือมีสุขภาพดีนั้น ลูกน้อยอาจมีลักษณะของอุจจาระตั้งแต่ไม่แน่นจนเหลว ไปจนถึงนุ่มแต่แน่นหรือแข็งได้ค่ะ

เมื่อการขับถ่ายของลูกไม่เป็นไปตามปกติล่ะ แล้วอะไรบ้างที่จะเป็นสัญญาณบอกว่าลูกของเรากำลังท้องผูก? ถ้าหากที่สังเกตได้ชัดเจนและเป็นสัญญาณที่สำคัญที่สุดของอาการท้องผูก ก็คือการที่ลูกน้อยจะมีอุจจาระที่แข็งและแห้ง หรือร่วนออกมาดูเหมือนก้อนหิน แต่ก็ยังมีอาการท้องผูกในทารกที่แสดงอาการมาให้เห็นได้ชัด ๆ ซึ่งคุณแม่ก็สามารถจับสัญญาณเหล่านี้เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันรักษาอย่างทันท่วงที

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยท้องผูก (2)

1. ลูกน้อยของคุณแม่จะร้องไห้งอแงและดูไม่สบายตัวก่อนที่จะขับถ่ายอุจจาระ แต่บางครั้งลูกอาจรู้สึกเหมือนถูกบีบรัดก่อนถ่ายอุจจาระได้ ซึ่งบางครั้งไม่ได้หมายถึงอาการท้องผูก

2. อุจจาระและกลิ่นผายลมมีกลิ่นเหม็น

3. ลูกน้อยรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหาร หรือทานได้น้อย

4. ลูกน้อยมีอาการท้องแข็ง

หากอุจจาระแข็งมาก ๆ ในบางครั้ง อาจจะมีเลือดออกเกิดขึ้นเล็กน้อยรอบทวารหนักของลูก ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าตัวน้อยคงมีการเสียน้ำตาถึงความเจ็บปวดและไม่สบายตัวนี้บ้าง จากประสบการณ์จากคุณแม่ที่รู้จัก เมื่ออาการท้องผูกมาเยือนลูกน้อย การเบ่งอุจจาระที่สร้างความเจ็บปวดทรมานต่อลูกนั้น ทำให้พวกเขามีประสบการณ์ที่แย่ ๆ เลยพาลทำให้ไม่กล้าที่จะเบ่งอุจจาระเพราะกลัวและรู้สึกเจ็บปวดมาก ๆ นั่นเอง แม่เห็นแล้ว น้ำตาก็ไหลไปด้วย เพราะบีบหัวใจแม่เหลือเกิน แล้วแบบนี้คุณแม่จะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อแก้ปัญหาท้องผูกในเด็กแรกเกิด ตามไปอ่านกันเลยค่ะ

วิธีรับมือเมื่อทารกท้องผูก(2)

สำหรับเด็กทารกกินนมแม่:

คุณแม่อาจต้องให้นมลูกบ่อยขึ้น พบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กเพื่อขอคำแนะนำ

สำหรับเด็กทารกที่กินนมผง:

อาจเป็นเพราะเราอาจจะไม่ได้ผสมหรือชงนมให้ลูกในอัตราส่วนที่ถูกต้อง อาจจะผสมน้ำไม่เพียงพอ คุณแม่อาจจะกลับไปตรวจสอบอีกครั้งค่ะว่าปฏิบัติตามคำแนะนำบนกระป๋องของแต่ละสูตรอย่างถูกต้อง ตรวจสอบอีกครั้งว่าคุณแม่ได้ใช้ช้อนตักนม ที่มาพร้อมกับกระป๋องสูตรที่คุณใช้อยู่ เพราะบางครั้งคุณแม่อาจจะลองเปลี่ยนนมหลาย ๆ สูตร และอาจจะมีช้อนตักจากนมสูตรเก่าอยู่และใช้สลับกันไปบ้าง ซึ่งมีขนาดที่ต่าง ๆ กัน

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้บรรจุนมผงแน่นเกินไปจากช้อนตัก แนะนำว่าควรตักแบบหลวม ๆ และปรับระดับโดยใช้ด้านแบบของด้ามช้อน มีด หรือตัวปรับระดับที่ให้มาในการตวง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้เติมน้ำลงในขวดก่อน จากนั้นจึงเติมนมผงที่ตวงอย่างถูกต้องลงไป เพราะหากคุณแม่ใส่นมผงไปก่อน คุณแม่อาจจะเติมน้ำลงในขวดนมน้อยเกินไป

สำหรับเด็กเริ่มรับประทานอาหารเสริม:

เมื่อลูกน้อยเริ่มต้นรับประทานอาหารเสริม หรือ ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งอาหารเสริมต่าง ๆ ที่คุณแม่เลือกสรรมาให้พวกเขาอาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ อีกทั้งยังเป็นอาหารในรูปแบบใหม่ที่พวกเขาเองยังไม่เคยลอง ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การขับถ่ายของพวกเขาไม่ปกติได้ค่ะ ข้อแนะนำง่าย ๆ คือ คุณแม่ลองป้อนน้ำสะอาดเสริมระหว่างมื้ออาหารปกติ หรือจะเป็นน้ำผลไม้เจือจาง โดยเฉพาะน้ำลูกพรุน ที่ใช้ได้ผลมานักต่อนัก โดยอัตราส่วนคือ น้ำผลไม้ 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน หรือลองให้ดื่มน้ำแอปเปิ้ลหรือลูกแพร์ 100 % ทุกวัน นอกเหนือจากการให้นมตามปกติ น้ำผลไม้บางตัวเหล่านี้มีซอร์บิทอลซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่ทำหน้าที่เหมือนยาระบาย อาจจะเริ่มต้นก่อนก็ได้ค่ะสัก 2-4 ออนซ์ แล้วค่อยเพิ่มหรือลดตามความต้องการของลูกน้อย (3)

พยายามกระตุ้นให้ลูกน้อยกินผักและผลไม้ที่ผ่านการกรองหรือบดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเคี้ยวของเด็กแต่ละคน เช่น ลูกพรุนตุ๋นแล้วนำมาบด หรือมะละกอสุกบด รวมถึงผักนึ่งต่าง ๆ เช่นผักโขม ผักตำลึง เพิ่มน้ำในอาหารเสริมให้มากขึ้น อย่างแม่จะทำเป็นน้ำซุปไก่ น้ำซุปกระดูกหมู และน้ำซุปผักเอาไว้เพื่อนำมาเติมใส่ลงไปในอาหารเสริมของเด็ก ๆ ค่ะ ลองให้ลูกรับประทานพวกโฮลวีตข้าวบาร์เล่ย์ หรือ ซีเรียลธัญพืชซึ่งมีไฟเบอร์มากกว่าซีเรียลข้าว (3)

สิ่งอื่น ๆ ที่ควรลอง:

แล้วเมื่อไหร่ที่ต้องขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ (4)

โทรหาแพทย์หากอาการท้องผูกของลูกน้อยไม่ดีขึ้น และมีอาการร่วมด้วย เช่น

จริงอยู่ว่าอาการท้องผูกของทารกอาจจะเกิดขึ้นได้และมีวิธีแนะนำมากมาย แต่การปล่อยให้ทารกท้องผูกบ่อย ๆ นั้น อาจจะเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ได้เช่น ลำไส้อุดตัน (Hirschsprung) , ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (hypothyroidism) หรือ โรคซิสติก ไฟโบรซิส (cystic fibrosis) (3)ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม การให้โภชนการที่ดีก็เป็นวิธีที่ช่วยสร้างการขับถ่ายที่ดีของเด็กทารกได้นะคะ เพราะการที่ลูกมีสุขภาพการขับถ่ายที่ดี ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ร่างกายของลูกน้อยเติบโตแข็งแรง แต่พวกเขาจะได้มีอารมณ์ที่สดใสเบิกบาน ไม่ต้องทรมานกับความเจ็บปวดจากอาการท้องผูกนั่นเองค่ะ


Resources
(1) Your Baby’s Bowels and Constipation

(2) Constipation in babies

(3) Infant and toddler health

(4) How Can I Tell if My Baby Is Constipated?