วิธีนับลูกดิ้น สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

วิธีนับลูกดิ้น

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 18 – 20 นั้น จะสังเกตและรู้สึกถึงพลังงานบางอย่างที่อยู่ในครรภ์ นั่นก็คือการเคลื่อนไหวและการเตะของเจ้าตัวน้อยนั่นเองค่ะ คุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าลูกดิ้นในบางช่วงเวลากลางวัน หรือคุณแม่บางคนก็รู้สึกว่าเมื่อล้มตัวนอน หรือกำลังจะพักผ่อนเท่านั้นแหละ เจ้าตัวเล็กก็เคลื่อนไหว และเตะมากกว่าปกติ ยังกะแกล้งแม่ยังไงยังงั้น หรือแม้แต่คุณแม่บางคนที่รู้สึกถึงการดิ้นที่เหมือนจะเตะให้รู้สึกทั้งวันทั้งคืน อะไรจะแอคทีฟขนาดนั้นล่ะลูก!!

คุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอให้มีการนับการเตะหรือการดิ้นของทารกน้อยในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณหมออาจจะขอให้คุณแม่ๆ ติดตามการเคลื่อนไหวของทารกทุกวัน ซึ่งมักจะเรียกว่า “การนับจำนวนเตะ” หรือ “kick count” (1) ซึ่งการนับจำนวนลูกเตะนี้ นอกจากจะทำให้คุณแม่สามารถเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ของการเคลื่อนไหวของทารกแล้ว ยังทำให้คุณแม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหา ซึ่งวิธีทั่วไปในการนับจำนวนการเตะนั้น คือการดูว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ในการรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ซึ่งบางครั้งคุณแม่อาจจะรู้สึกว่าลูกน้อยเคลื่อนไหวน้อยมากในหนึ่งวัน ก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ เพราะบางครั้งบางทีลูกน้อยอาจกำลังนอนหลับอยู่นั่นเองล่ะคะ (1)

แน่นอนค่ะว่าการเคลื่นไหวของทารกในครรภ์นั้น เป็นสัญญาณหลาย ๆ อย่างให้คุณแม่ได้ทราบถึงขนาดของทารกน้อยและความแข็งแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่คุณแม่ที่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวเหล่านี้นะคะ คนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวคุณแม่อย่างคุณพ่อ หรือเพื่อนสนิทมิตรสหายก็สามารถรับรู้ได้จากการสัมผัสที่ท้องคุณแม่นั่นเองค่ะ แล้วทำไมการนับลูกดิ้นถึงสำคัญ แล้วมีวัตถุประสงค์อะไรกันนะที่คุณแม่ ๆ ต้องนับจำนวนการดิ้นของลูก ลองไปหาคำตอบกันเลยค่ะ (2)

วัตถุประสงค์ในการนับลูกดิ้น

1. เพื่ออธิบายความสำคัญของการเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของทารกน้อยในครรภ์ได้ด้วยตัวคุณแม่เอง

2. เพื่อระบุวิธีการติดตามการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ด้วยตนเอง

3. เพื่อทบทวนสัญญาณเตือนของการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ที่ลดลง

4. เพื่อสรุปขั้นตอนที่คุณหมอจะใช้ในการรายงานการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ที่ลดลง

การเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของทารกน้อยในครรภ์

ความสัมพันธ์ระหว่างอายุครรภ์และจำนวนทารกในครรภ์กับการดิ้น (3)

คุณแม่เชื่อหรือไม่คะว่าการเคลื่อนไหวต่อวันของทารกน้อยในครรภ์นั้นมีความแตกต่างกัน มีผลวิจัยจากหลายๆ คนได้ทำการศึกษาหญิงตั้งครรภ์กว่า 127 คนที่มีการตั้งครรภ์ปกติ พบว่าทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นทุกวันจาก 200 ครั้งต่อวัน แล้วเพิ่มสูงสุดในสัปดาห์ที่ 20 ถึง 575 ครั้งต่อวัน และจะค่อย ๆ ลดลงในสัปดาห์ที่ 32 เหลือเพียง 282 ครั้งต่อวัน นอกจากนี้กิจกรรมของทารกในครรภ์จะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 24 และลดลงในสัปดาห์ที่ 32 ซึ่งนั่นก็มาจากการเปลี่ยนแปลงสรีระวิทยาของการตั้งครรภ์นั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนพื้นที่ของครรภ์มารดาหรือระดับของเหลวที่ลดลงทำให้มีพื้นที่น้อยลงสำหรับการเคลื่อนไหวของทารก อีกทั้งการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวที่ลดลงจะสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของระบบประสาทของทารกในครรภ์และวงจรการนอนหลับที่ยาวนานขึ้นนั่นเองค่ะ

ดูเพิ่มเติม พัฒนาการทารกในครรภ์คุณแม่ ตลอด 40 สัปดาห์

คุณแม่สามารถนับลูกดิ้นได้อย่างไร (4)

1. ช่วงเวลาที่จะนับลูกดิ้น

เลือกเวลาที่สะดวกในการนับ โดยคุณแม่ควรเลือกเวลาที่ลูกน้อยมีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนไหวหรือมีการดิ้นมากที่สุด คุณแม่หลาย ๆ คนพบว่าทารกน้อยจะมีความกระตือรืนร้นหรือดิ้นเป็นพิเศษหลังจากรับประทานอาหารบำรุงครรภ์หรือ มีการออกกำลังกายเบา ๆ หรือในคุณแม่หลาย ๆ คนจะรู้สึกว่าเจ้าตัวเล็กจะชอบกระดุ๊กกระดิ๊กมากขึ้นในตอนเย็น ซึ่งคุณแม่จำเป็นต้องลองนับเวลาเดียวกันในแต่ละครั้งในแต่ละวัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณแม่เข้าใจลูกน้อยของคุณว่าพวกเขามีรูปแบบกิจกรรมโดยปกติแล้วอย่างไรบ้าง

ทารกน้อยจะมีความกระตือรืนร้นหรือดิ้นเป็นพิเศษหลังจากออกกำลังกายเบา ๆ

2. สถานที่และท่าของคุณแม่

ในแต่ละวันและเวลาที่คุณแม่เลือกในการนับลูกน้อย คุณแม่ควรเลือกท่านอนตะแคงหรือนั่งบนเก้าอี้สบาย ๆ ในการนับลูกดิ้น และที่สำคัญอย่าลืมสมุดและปากกาเพื่อลงจำนวนครั้งในการนับลูกดิ้นและเริ่มทำเป็นบันทึกประจำวันของคุณ อย่างตอนแม่นับจำนวนลูกดิ้นนั้น จะค่อนข้างสะดวกสบายนิดหนึ่งค่ะ เพราะคุณหมอจะมีสมุดจดบันทึกการนับลูกดิ้นมาให้แม่แล้ว โดยทำเป็นตาราง ซึ่งจะมีหัวข้อหลัก ๆ อยู่คือ การลงวันที่ เวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดการนับลูกดิ้น จำนวนครั้ง และหมายเหตุไว้ให้เพื่อจดบันทึกว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวันค่ะ ซึ่งคุณแม่ก็สามารถนำตารางการบันทึกนี้ไปทำตามกันได้เลยค่ะ เพราะเป็นวิธีการจดบันทึกที่ง่าย และทำให้คุณแม่ไม่สับสนเลยล่ะค่ะ

3. เวลาดิ้นของลูก

อย่าลืมเขียนช่วงเวลาที่คุณแม่รู้สึกว่าเจ้าตัวน้อยมีการดิ้นการเตะครั้งแรกและเริ่มนับต่อ ๆ ไป หลังจากการดิ้นในครั้งแรก ซึ่งคุณแม่สามารถทำเป็นเครื่องหมายง่าย ๆ เช่น เส้นตรง ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวจากเจ้าตัวน้อย เช่นการบิดตัวไปมา การกระพือหวดเตะ หรือการใช้ศอกในการเคลื่อนไหว (แต่ไม่รวมการนับที่ลูกสะอึกนะคะ) นับต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณแม่จะทำเครื่องหมายครบ 10 ครั้งของการเคลื่อนไหวในรูปแบบนั้น ๆ บันทึกเวลาของการเคลื่อนไหวหลังเสร็จสิ้นการนับครบ 10 ครั้งค่ะ

4. พบแพทย์หากรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้น

หากคุณแม่ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว หรือ การดิ้นของเจ้าตัวน้อยครบ 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง อย่านิ่งนอนใจนะค่ะ ควรพบคุณหมอเพื่อรับการดูแลทันที ซึ่งตัวแม่เองมีประสบการณ์ที่ลูกไม่ดิ้นกว่า 2 ชั่วโมง ดื่มน้ำก็แล้ว ลองรับประทานของว่างก็แล้ว ลูกก็ไม่มีการเคลื่อนไหวแม้แต่น้อย จนต้องรีบไปพบคุณหมอ เพื่อทำการอัลตร้าซาวด์ ซึ่งก็ทำให้รู้ว่ามีเด็กขี้เซา นอนหลับทั้งวันนั่นเองค่ะ เห็นมั้ยคะว่าการนับลูกดิ้นสำคัญมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ เพราะหากเกิดปัญหาอะไรที่นอกเหนือจากการนอนหลับของทารกน้อย คุณแม่จะได้มีคุณหมอดูแลอย่างทันท่วงทีค่ะ

เรื่องอื่น ที่ควรรู้ในการนับลูกดิ้น (4)

เรื่องอื่น ๆ ที่ควรรู้ในการนับลูกดิ้น

1. แม้ว่าจำนวนเป้าหมายของการเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของลูกน้อยมักจะนับในขั้นต่ำที่ 10 ครั้งต่อการเคลื่อนไหวใน 2 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แพทย์ก็อาจจะกำหนดจำนวนการดิ้นของลูกน้อยให้คุณแม่แต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป อย่างตัวแม่นะคะ ตอนตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง น้องจะมีความแอคทีฟเป็นพิเศษ ชนิดที่ว่าดิ้นไม่หยุดเลยทีเดียว คุณหมอจึงต้องเพิ่มจำนวนครั้งให้คุณแม่มากกว่า 10 ครั้งนั่นเองค่ะ

2. คุณแม่บางคนอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการนับลูกดิ้นให้ครบ 10 ครั้ง หรือตามเป้าหมายเฉพาะที่แพทย์แนะนำให้กับคุณแม่แต่ละคน ซึ่งคุณแม่สามารถหยุดนับลูกดิ้นเมื่อนับครบถึงจำนวนเป้าหมายของคุณแม่ได้เลยค่ะ

3. บางครั้ง เจ้าตัวน้อยอาจจะนอนหลับและมีการเคลื่อนไหวที่น้อยลง หากลูกน้อยของคุณแม่ดูเหมือนจะนอนนานเกินไปแล้วนะ คุณแม่อาจจะลองเดินเล่นสัก 5 นาที เพื่อกระตุ้นให้ลูกตื่น เป็นต้นค่ะ

4. ในขณะที่คุณแม่นับการดิ้นของลูกน้อยในแต่ละวัน คุณแม่จะสังเกตได้ถึงรูปแบบและระดับกิจกรรมของเจ้าตัวน้อยได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ๆ เลยล่ะค่ะ เพราะคุณแม่จะรู้ถึงความสนใจของลูกน้อยที่แสดงออกมา ผ่านทางกิจกรรมที่คุณแม่ทำ หรือการเปลี่ยนแปลงของทารกตามปกติ นอกจากนี้ยังช่วยเป็นสัญญาณการเตือนถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

5. ทำการนับและบันทึกการเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าเจ้าตัวน้อยจะออกมาลืมตาดูโลกเลยนะคะ

เห็นมั้ยคะว่าการนับการดิ้นของเจ้าตัวน้อยไม่เพียงแต่จะทำให้คุณแม่รู้สึกมีความสุขที่ได้สัมผัสการเคลื่อนไหวของทารกน้อยในครรภ์เพียงแค่นั้นแต่ยังช่วยให้ตัวคุณแม่และคุณหมอหรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณที่ดูแลสุขภาพของทารกน้อยได้ทราบถึงความแข็งแรงและการเติบโตจากการนับลูกดิ้นๆบางครั้งคุณแม่อาจจะไม่ได้สังเกตเห็นเนื่องจากคุณแม่อาจกำลังยุ่งอยู่การหาเวลาอื่นๆในการนับลูกดิ้นก็จะช่วยให้คุณแม่ได้ทราบถึงกิจกรรมต่างๆของลูกน้อยและเมื่อใดที่คุณแม่จะทราบได้ว่าจำเป็นจะต้องโทรติดต่อแพทย์เพื่อติดตามผลค่ะ


Resources:
(1) Pregnancy: Kick Counts
(2) Fetal Movement
(3) FETAL MOVEMENT COUNTS IN PREGNANCY: A COMPARISON OF THE CARDIFF AND SADOVSKY METHODS
(4) Fetal Movement Counting