เชื่อว่าว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ คงจะประสบปัญหากับอารมณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของตัวเองอยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะคะ บางคนที่เคยเป็นคนใจเย็น อยู่ ๆ ก็ขี้หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว หรือบางคนที่ใจร้อนอยู่แล้ว พอตั้งครรภ์ปุ๊บ ก็กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์หนักไปกว่าเดิมอีก จนคุณพ่อบ้านถึงกับกุมขมับ ไม่รู้จะรับมือกับอารมณ์แปรปรวนของคุณแม่ท้องอย่างไรดี วันนี้เราเลยมีวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยให้ว่าที่คุณแม่หลาย ๆ คนรู้วิธีจัดการอารมณ์ขณะตั้งครรภ์ ที่หากคุณรู้ถึงแนวทางการจัดการนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณพ่อบ้านคลายความกลัวจากอารมณ์แปรปรวนของเราได้แล้ว อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของตัวคุณแม่เองในการตั้งครรภ์ครั้งนี้ด้วยล่ะค่ะ
สิ่งที่ควรทำ
- พูดถึงความรู้สึกของคุณกับเพื่อน สมาชิกในครอบครัว แพทย์ หรือ พยาบาลผดุงครรภ์
- ลองฝึกการหายใจอย่างสงบ หากคุณรู้สึกหนักใจหรือมีอารมณ์ที่จะก่อให้เกิดความฉุนเฉียว
- ทำกิจกรรมทางร่างกายถ้าทำได้ การเคลื่อนไหวร่างกายสามารถทำให้อารมณ์ดีขึ้น และช่วยให้คุณนอนหลับได้ แม่ใช้กิจกรรมสองอย่างตอนตั้งท้อง ก็คือการว่ายน้ำและโยคะค่ะ ซึ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากเลยทีเดียวล่ะค่ะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในแต่ละมื้ออาหารเป็นประจำ
- พยายามหาห้องเรียนไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล หรือออนไลน์เพื่อคุณจะได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการตั้งครรภ์ค่ะ
- หากิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่แปรปรวน เช่น การเดินเล่นสูดอากาศในสวนสาธารณะ การฟังเพลง เป็นต้น
- นั่งสมาธิ อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเบสิก แต่เชื่อเถอะค่ะว่า การนั่งสมาธิ ช่วยให้จิตใจสงบ และทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้จริง ๆ
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- อย่า และ หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้หญิงตั้งครรภ์คนอื่น ๆ เพราะทุกคนมีประสบการณ์การตั้งครรภ์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
- อย่ากลัวและอายที่จะบอกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพว่า คุณรู้สึกอย่างไร เพราะพวกเขาพร้อมที่จะรับฟังและสนับสนุนคุณเสมอ
- อย่าใช้แอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือ ยาเสพติด เพื่อพยายามทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณรู้สึกแย่ลง อีกทั้งยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ของทารกอีกด้วย
- หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ บุคคลหรือ สถานที่ ที่จะทำให้จิตใจของคุณเป็นทุกข์ การพบปะผู้คนในสถานที่หรือบรรยากาศที่ทำให้คุณหดหู่ ยิ่งทำให้อารมณ์ของคุณแปรปรวนได้ง่าย
การรักษา
การรักษาปัญหาสุขภาพจิตในขณะตั้งครรภ์สามารถทำได้ 2 ประเภท ดังนี้
1. การพูดคุยบำบัด
การบำบัดด้วยการพูดคุย สามารถช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย ๆ ได้ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
2. การใช้ยาทางการแพทย์
หากคุณตัดสินใจที่จะกินยาในขณะที่คุณกำลังตั้งครรภ์ แพทย์ของคุณจะอธิบายว่าสิ่งนี้อาจส่งผลต่อทารกของคุณอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แพทย์จะจ่ายยาที่ปลอดดภัยที่สุด และในปริมาณต่ำสุดแต่ยังคงได้ผลสำหรับคุณ
ปัญหาสุขภาพจิต
เชื่อหรือไม่คะว่า มีปัญหาสุขภาพจิตมากมายที่คุณอาจพบในการตั้งครรภ์ อาจขึ้นได้ทุกเมื่อ หลายคนคิดว่าต้องเกิดขึ้นแค่การตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่ปัญหาสุขภาพจิตนี้สามารถเกิดขึ้นได้เสมอถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การตั้งครรภ์ครั้งแรกของคุณก็ตาม เราลองไปดูตารางอธิบายอาการของปัญหาสุขภาพจิตในสภาวะต่าง ๆ กันดูค่ะ
สภาวะ | ปัญหาสุขภาพจิต |
---|---|
คุณรู้สึกเศร้าตลอดเวลา | ภาวะซึมเศร้า (Depression) |
คุณมีเหตุการณ์ย้อนหลัง ฝันร้าย รู้สึกทุกข์ทรมานอย่างมากเมื่อนึกถึงประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา | ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD: Post- Traumatic Stress Disorder) |
อาการตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวอย่างกระทันหัน | ภาวะโรคแพนิค (Panic Disorder) |
มีความคิดครอบงำและพฤติกรรมมบังคับครอบงำจิตใจ | ภาวะโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive Compulsive Disorder) |
มีความกลัวอย่างมากที่จะให้กำเนิดบุตร | ภาวะโทโคโฟเบีย (Tokophobia) |
แน่นอนค่ะว่าการตั้งครรภ์ถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมากในชีวิตและเป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกถึงอารมณ์ที่แตกต่างกันมากมาย แต่ถ้าคุณรู้สึกเศร้าและอารมณ์ต่าง ๆ เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณแล้วล่ะก็ อย่าลืมนำคำแนะนำดี ๆ เหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ และคุณก็ไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้ ยังมีคนรอบข้างหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือคุณให้ก้าวผ่านอารมณ์ปรวนแปรนี้ไปได้อย่างแน่นอนค่ะ
Resource :
(1) Mental health in pregnancy