เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์เคยมีอาการแพ้ท้องแบบแม่มั้ยคะ? อาการคลื่นไส้ อาเจียนในการตั้งครรภ์หรือที่เรียกว่า อาการแพ้ท้อง ที่ดูจะเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ในการตั้งครรภ์ในช่วงแรก ๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวันไม่น้อยเลยทีเดียว บางคนอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนทั้งกลางวันและกลางคืน หรือบางคนก็รู้สึกแพ้ท้องตลอดทั้งวันไม่หยุดไม่หย่อน อาการแพ้ท้องจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์กับว่าที่คุณแม่หลาย ๆ คน เพราะไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบตัวเราเองในชีวิตประจำวัน ยังทำให้ลูกน้อยของคุณมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยนะคะ (1) แต่อาการแพ้ท้องมักจะหายไปภายในสัปดาห์ที่ 16 -20 ของการตั้งครรภ์
ระดับของการแพ้ท้อง
ว่าที่คุณแม่บางคนอาจมีอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ในรูปแบบรุนแรงที่เรียกว่า Hyperemesis Gravidarum ซึ่งหากคุณแม่คนใดมีอาการแพ้ท้องขั้นรุนแรงแบบนี้ต่อเนื่องกัน อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของครรภ์เป็นพิษหรือคลอดก่อนกำหนดได้นะคะ (2) สิ่งนี้อาจร้ายแรงและมีโอกาสที่คุณอาจได้รับของเหลวในร่างกายไม่เพียงพอหรือเกิดภาวะขาดน้ำ หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากอาหารที่คุณรับประทานเข้าไป จนเกิดการขาดสารอาหารได้ค่ะ ซึ่งคุณเองอาจต้องได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบางคนอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเลยทีเดียว
นอกจากนี้การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมักมีผลต่อกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปที่ไตได้ด้วยค่ะ
สาเหตุของการแพ้ท้อง (3)
อาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการแพ้ท้องนะคะ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่อาจจะมีบทบาทต่อการแพ้ท้อง อาทิเช่น:
1. ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าส่วนหนึ่งของอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ จนลามไปถึงอาเจียนนี้ เกิดมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับการไหลเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งอาจจะสูงขึ้น 100 เท่าในระหว่างการตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับระดับที่พบในผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงความแตกต่างของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนระหว่างผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มี หรือ ไม่มีอาการแพ้ท้องค่ะ
2. ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ จะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอรโรนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัวเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นสาเหตุทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ผ่อนคลายลง ส่งผลให้มีกรดในกระเพาะอาหารมากจนเกินไปเลยทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
3. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
น้ำตาลในเลือดต่ำนั้น เกิดจากการที่รกของคุณแม่กำลังระบายหรือถ่ายพลังงานออกจากร่างกายเลยทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย หรือมีอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาที่จะพิสูจน์ในเรื่องนี้แน่ชัดนักค่ะ
4. ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น อาทิเช่น Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อตัวอ่อนหรือทารกที่กำลังพัฒนา และมักจะเกิดขึ้นไม่นานหลังจากการตั้งตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ และต่อมาก็ถูกผลิตจากรก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่า ด้วยระดับฮอร์โมน HCG ที่เพิ่มขึ้นนี้เองมีความเชื่อมโยงกับอาการแพ้ท้องนั่นเอง
5. ความรู้สึกและความไวของกลิ่น
ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีความไวต่อกลิ่นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้มากเกินไปค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงของการแพ้ท้อง (1)
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วง 12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการแพ้ท้อง แต่คุณอาจจะเสี่ยงต่ออาการแพ้ท้องมากขึ้นหาก:
- คุณมีลูกฝาแฝดหรือแฝดสาม
- คุณมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรงในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
- คุณมีประวัติปวดหัวไมเกรน
- อาการแพ้ท้องเกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัวมาก่อน
- คุณเคยรู้สึกไม่สบายเมื่อรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน
- เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกของคุณ
- คุณเป็นโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) 30 ขึ้นไป
- คุณกำลังประสบกับความเครียด
การรักษาอาการแพ้ท้อง (1)
น่าเสียดายนิดนึงค่ะที่ไม่มีรักษาที่รวดเร็วทันใจและใช้ได้ผลมากนักกับอาการแพ้ท้องของผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน เพราะแน่นอนว่าการตั้งครรภ์ในแต่ละคนหรือแต่ละครั้งจะมีความแตกต่างกันไป อย่างประสบการณ์การตั้งครรภ์ทั้งสองของแม่ แม่แทบไม่มีอาการแพ้ท้องใด ๆ ในการตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่กลับมีอาการแพ้ท้องในท้องที่สอง ทั้งคลื่นไส้ ทั้งอาเจียน ตื่นเช้ามาก็มึนหัวเลย แทบจะรับประทานอะไรก็ไม่ได้ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่แม่อยากนำมาบอกเล่า และว่าที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องสามารถนำไปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารที่แพ้ทั้งกลิ่นทั้งรสชาติ หรือการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ไม่มากก็น้อยค่ะ แต่หากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ผลสำหรับคุณ หรือคุณเริ่มมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงขึ้น ก็ควรปรึกษาแพทย์ซึ่งอาจจะแนะนำให้ใช้ยาเพื่อลดอาการแพ้ท้องค่ะ
สิ่งที่คุณสามารถลองได้ด้วยตัวเอง
หากอาการแพ้ท้องของคุณไม่ได้แย่จนเกินไป แพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ก็จะแนะนำให้คุณลองปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันค่ะ เช่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความเหนื่อยล้าอาจทำให้อาการคลื่นไส้แย่ลง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบาย งดอาหารที่มีกลิ่นหรือรสชาติที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
- รับประทานอาหารแก้อาการแพ้ท้อง เช่น ขนมปังปิ้งแห้ง ๆ ไม่ต้องทาเนยหรือปรุงรสใด ๆ หรือขนมปังกรอบสักคำสองคำก่อนคุณจะลุกจากเตียง
- กินอาหารมื้อปกติแต่เป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยขึ้น และควรเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง แต่ไขมันต่ำ เช่น ขนมปัง แครกเกอร์ข้าว หรือ พาสต้าต่าง ๆ
- กินอาหารเย็นมากกว่าอาหารร้อน เพราะกลิ่นที่โชยมาจากอาหารร้อนอาจทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนได้
- ดื่มน้ำหรือของเหลวมาก ๆ แต่ควรจิบเพียงทีละเล็กน้อยและบ่อยครั้ง เพื่อช่วยป้องกันการอาเจียนได้
- กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีขิง อันนี้ช่วยชีวิตแม่มาแล้วจริง ๆ ค่ะ เพราะมีหลักฐานอ้างอิงเลยค่ะว่า สรรพคุณของขิงจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ แต่ควรตรวจสอบกับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับทานอาหารเสริมที่มีขิงเป็นส่วนประกอบในระหว่างตั้งครรภ์
- ลองวิธีกดจุด เนื่องจากมีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าการกดที่ข้อมือ โดยใช้สายรัดหรือสร้อยข้อมือแบบพิเศษที่ปลายแขนอาจช่วยบรรเทาอาการได้
วิธีเหล่านี้ไม่ดีขึ้นเลย ทำอย่างไรต่อดี?
หากอาการคลื่นไส้และอาเจียนของคุณรุนแรงและไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นมาเลย หลังจากลองปรับเปลี่ยนวีถีชีวิตแบบข้างต้นแล้ว แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้ใช้ยาต้านอาการป่วยระยะสั้นที่เรียกว่ายาต้านอาการป่วย ซึ่งปลอดภัยที่จะนำมาใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์ค่ะ บ่อยครั้งที่ยาตัวนี้อาจเป็นสารต่อต้านฮีสตามีนชนิดหนึ่ง ซึ่งมักใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ แต่ยังใช้เป็นยาเพื่อหยุดความเจ็บป่วยและอาการแพ้ท้องได้ โดยปกติแล้วจะมาในรูปแบบเม็ดเพื่อให้คุณกลืน แต่ถ้าคุณไม่สามารถใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการได้ แพทย์ของคุณก็จะวินิจฉัยโดยอาจแนะนำให้ฉีดยาหรือใช้ยาบางชนิดสอดเข้าไปในทวารของคุณ หรือ ยาเหน็บนั่นเองค่ะ
ถึงแม้ว่าอาการแพ้ท้องจะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ แต่หาคุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ตลอดทั้งวัน จนทำให้ไม่สามารถกินหรือดื่มอะไรได้เลย มีอาการอาเจียน 3 – 4 ครั้งต่อวัน หรือไม่สามารถเก็บอะไรไว้ในกระเพาะอาหาร เป็นอันต้องอาเจียนออก อีกทั้งอาจมีสีน้ำตาลหรือเลือดปะปนอยู่ น้ำหนักลด มีอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลมร่วมด้วย ปัสสาวะน้อยลง มีอัตราการเต้นของหัวใจอย่างรวดเร็ว อาการปวดหัวกำเริบ เมื่อยล้ามาก มีกลิ่นปากหรือกลิ่นตัวไม่พึงประสงค์ และมีความสับสน ก็ควรโทรหาคุณหมอทันทีนะคะ เพื่อที่คุณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัยค่ะ ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับคุณแม่ รวมไปถึงวิตามินเสริมที่สำคัญสำหรับคนท้องด้วยนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากเราค่ะ
Resources :
(1) Vomiting and morning sickness
(2) Pregnancy – morning sickness
(3) What is morning sickness and how can I treat it?