คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านคงจะเจอเหตุการณ์การสะดุ้งหรือผวาของทารกแรกเกิด ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับอาการดังกล่าวนี้อยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ ทั้ง ๆ ที่คุณเองก็พยายามทุกอย่างแล้วเพื่อจะปลอบลูกน้อยของคุณให้นอนหลับสนิทและปลอดภัย และเมื่อความพยายามที่จะปลอบประโลมลูกน้อยให้หลับใหล ผ่านไปหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง จนมารู้ตัวว่าลูกน้อยของคุณหลับไปแล้วก็ปาเข้าไปหลายชั่วโมง แต่พอนำลงเปล หรือ ที่นอนสำหรับเด็กทารกปุ๊บ ลูกกลับสะดุ้งปั๊บ และความพยายามที่จะนำลูกน้อยนอนอีกครั้ง ก็อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเหนื่อยล้ามากมายเลยใช่มั้ยคะ หรือบางครั้งที่เสียงหรือการเคลื่อนไหวที่กระทันหัน เช่น แม่อาจจะทำของตกพื้นบ้าง เสียงเปิดประตูของคุณพ่อบ้าง ก็อาจจะทำให้ทารกเกิดการสะดุ้งตื่นขึ้นมาบ่อย ๆ หากทารกแรกเกิดมีอาการตกใจเพราะเสียงดังหรือจากการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหัน
อาการนอนสะดุ้ง ผวาของทารกอาจจะตอบสนองในลักษณะเฉพาะของทารกนั้น ๆ เช่น บางคนอาจจะมีการกางแขนกางขาขณะตกใจ หรือบางคนอาจจะขดขาทั้งสองข้าง แต่ไม่ใช่ทารกทุกคนจะตกใจกับเสียงหรือการเคลื่อนไหวเหล่านี้แล้วจะร้องไห้เสมอนะคะ เพราะทารกบางคนอาจจะมีแค่ปฏิกิริยาตอบสนอง แต่ไม่มีการร้องไห้ ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองจากสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้พวกเขาตกใจนั้นจะค่อย ๆ หายไปเมื่อทารกโตขึ้น แต่สำหรับบางคนอาจจะยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ก็ได้ ซึ่งการปฏิกิริยาตอบสนองนี้จะยังคงอยู่หลังจากผ่านไปเป็นเวลานาน แต่นั่นก็อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเสียหายของสมองหรือระบบประสาทได้ค่ะ (1)
กุมารแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจะตรวจสอบปฏิกิริยาตอบสนองของทารก เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสมองและระบบประสาททำงานได้ดีหรือไม่ และปฏิกิริยาที่ตอบสนองนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดของพัฒนาการในเด็กทารก และการที่ทารกตกใจเพราะเสียงดังหรือการเคลื่อนไหวนี้เอง เราเรียกว่า “Moro reflex” หรือ “Startle reflex” ค่ะ แต่ก็ยังมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างอื่นที่ปกติและจะพบได้ในทารก อาทิเช่น
ปฏิกิริยาตอบสนองที่พบได้ในทารก (2)
1. ปฏิกิริยาการค้นหา (Rooting Reflex)
เป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองกลับเมื่อคุณแม่มีการลูบหรือสัมผัสที่มุมปากของทารก ทารกจะหันศีรษะและอ้าปากเพื่อตามและเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของการลูบและการสัมผัสจากคุณแม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ทารกหาเต้านมหรือขวดนมเพื่อเริ่มการดูดนมนั่นเอง ปฏิกิริยาการตอบสนองนี้จะกินเวลาประมาณ 4 เดือนนะคะ
2. ปฏิกิริยาการดูด (Suck Reflex)
การค้าหาจะช่วยให้ทารกพร้อมที่จะดูดนม เมื่อสัมผัสกับเพดานปากของทารกแล้วล่ะก็ ทารกก็จะเริ่มดูดตามธรรมชาติของำวหดขา ปฏิกิริยาการตอบสนองนี้จะไม่เริ่มขึ้นจนถึงประมาณสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ และยังไม่พัฒนาเต็มที่จนกว่าจะถึง 36 สัปดาห์ แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด อาจมีความสามารถในการดูดนมที่ยังไม่ดีพอ เนื่องจากทารกยังมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบปากต่อปากที่เกิดจากการค้นหาเต้านมหรือขวดนม นอกจากนี้หากคุณแม่สังเกตดี ๆ ทารกอาจมีการดูดนิ้ว หรือดูดกำปั้นมือตนเอง ก็ถือเป็นปฏิกิริยาการดูดเช่นกันค่ะ
3. ปฏิกิริยาโมโร (Moro Reflex)
นี่แหละค่ะคือปฏิกิริยาที่ทำให้ทารกสะดุ้งตื่นเมื่อเกิดเสียงดังหรือมีการเคลื่อนไหว เราจะได้ยินอีกคำหนึ่งบ่อย ๆ ว่า “Startle Reflex” ค่ะ ทารกจะตอบสนองต่อเสียงโดยการหันศีรษะไปข้างหลัง กางแขนและขาออก ส่งเสียงร้อง จากนั้นจะดึงแขนและขากลับเข้ามา รู้มั้ยคะว่า เสียงร้องของทารกเอง ก็อาจทำให้เขาตกใจและทำให้เกิดปฏิกิริยาโมโรนี้ได้ค่ะ ซึ่งจะอยู่กับทารกแบบนี้จนกระทั่งอายุประมาณ 2 เดือน
4. ปฏิกิริยาของคอ (Tonic Neck Reflex)
เมื่อศีระษของทารกหันไปด้านใดด้านหนึ่ง ขณะนอนหงาย และแขนด้านนั้นจะถูกเหยียดออก ส่วนอีกข้างหนึงนั้นจะงอขึ้นที่ข้อศอก ซึ่งมักจะเรียนว่า ท่าฟันดาบ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่จะอยู่กับทารกจนอายุประมาณ 5 – 7 เดือนค่ะ
5. ปฏิกิริยาการจับ (Grasp Reflex)
หากคุณแม่ลองลูบหรือสัมผัสฝ่ามือของทารกแล้วล่ะก็ คุณแม่จะรับรู้ได้ถึงปฏิกิริยาการจับ อย่างแน่นหน้า เพราะทารกจะตอบสนองโดยการหุบนิ้วของพวกเขาในการจับ การตอบสนองนี้จะอยู่กับทารกไปจนมีอายุประมาณ 5 – 6 เดือน ซึ่งการตอบสนองนี้จะคล้าย ๆ กันกับการตอบสนองของนิ้วเท้าซึ่งจะกินเวลานานถึง 9 – 12 เดือนค่ะ
6. ปฏิกิริยาการก้าว (Stepping Reflex)
การตอบสนองแบบนี้ก็คือการก้าวเดินนั่นเองค่ะ คุณแม่ลองจับพวกเขาให้ยืนขึ้น โดยให้เท่าสัมผัสกับพื้นแข็ง สิ่งที่ทารกจะตอบสนองคือการยกเท้าทั้งสองข้าง พยายามสลับกันสัมผัสพื้นเพื่อพยายามก้าว หรือเต้นกระโดด การตอบสนองนี้จะช่วยพัฒนาทักษะในการเดินของลูก ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 2 เดือนค่ะ
จริงอยู่ที่ว่า Moro reflex จะหายไป แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าชะล่าใจนะคะ โดยเฉพาะกับทารกที่คลอดก่อนกำหนด การที่พวกเขาตอบสนองโดยการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่าพอใจซักเท่าไหร่ เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนล่างของทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจจะมีความต้านทานไม่เพียงพอต่อการเคลื่อนไหวข้อต่อต่าง ๆ (passive movement) หรือการหดตัวของแขนพวกเขานั้นอาจจะช้าเมื่อเทียบกับทารกแรกเกิดที่ครบกำหนด แต่การที่ทารกแรกเกิดถึงช่วงวัยแรกเกิดนั้น ไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยการเคลื่อนไหว ทางกุมารแพทย์อาจให้การวินิจฉัยว่าอาจมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิดหรือไม่? (3)
ปัจจัยที่วินิจฉัยว่าทารกแรกเกิดอาจขาด Moro Reflex ก่อนวัยอันควร มีดังนี้ (3)
- ทารกแรกเกิดอาจมีการบาดเจ็บจากการคลอด หรือการขาดอากาศหายใจรุนแรงในระหว่างขั้นตอนการคลอด หรือการตกเลือดในกะโหลกศีรษะ
- การติดเชื้อจากความผิดปกติของสมอง
- ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อโดยทั่วไปจากสาเหตุต่าง ๆ
- อัมพาตสมองชนิดกระตุก
การพิจารณาเพื่อใช้ในการตรวจสอบ Moro Reflex ทันทีหลังคลอดของกุมารแพทย์ (1)
- กุมารแพทย์หรือพยาบาลจะวางทารกในลักษณะหงายท้อง และตั้งทารกไว้บนเบาะ หรือแผ่นรอง
- ทารกจะถูกยกศีรษะขี้นอย่างเบา ๆ โดยมีการรองรับที่ศีรษะอย่างเพียงพอที่จะเอาน้ำหนักตัวออกจากแผ่นรอง
- จากนั้นศีรษะของทารกจะถูกปล่อยอย่างกระทันหัน แต่จะได้รับการรองรับอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าแพทย์จะไม่ให้ศีรษะทารกกระแทกอะไรอย่างแน่นอน
- การตอบสนองอย่างปกติของทารก คือ จะมีท่าทางตกใจ แขนขาทารกควรเคลื่อนไปด้านหน้าโดยยกฝ่ามือขึ้นและงอนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งทารกอาจจะร้องไห้เป็นนาที แต่ถือเป็นการตอบสนองที่ปกติ
- เมื่อการตอบสนองสิ้นสุดลง ทารกจะดึงแขนกลับมาที่ลำตัว งอข้อศอก และผ่อนคลาย
ทารกที่มี Moro Reflex ที่ยังคงอยู่นั้น จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาหลายประการ ดังนี้
- การโฟกัสที่ยากลำบาก พวกเขาอาจจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่ายขึ้น
- ความอ่อนไหวทางด้านอารมณ์ที่มักแปรปรวน
- มีความวิตกกังวลและความโกรธได้ง่ายขึ้น
- ดวงตาเกิดการเคลื่อนไหวที่ยากลำบาก ซึ่งส่งผลให้การรับรู้ภาพลดลง รวมถึงความยากลำบากในการมองข้ามวัสดุภาพที่ไม่เกี่ยวข้อง
- กล้ามเนื้อตึง
- มีความยากลำบากในการอ่านงานพิมพ์สีดำบนกระดาษสีขาว เป็นต้น
ปัญหาที่เกิดจากการที่ทารกไม่ตอบสนองต่อเสียงดังหรือการเคลื่อนไหวนั้น มีอยู่หลายประการข้างต้นที่คุณแม่อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หากปัญหาเหล่านี้เพิ่มทวีคูณขึ้นเพื่อหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น แต่หากคุณแม่กำลังกังวลถึงอาการผวา และสะดุ้งตื่นของทารกน้อยแล้วล่ะก็ ลองนำวิธีลดการผวาของลูกและปัญหาเรื่องการสะดุ้งตื่นของพวกเขา เพื่อที่จะช่วยให้ทารกได้นอนหลับสนิทและไม่ตกใจตื่นค่ะ
วิธีลดการสะดุ้งตื่นตกใจของทารก
การอุ้มทารกแนบอก เพื่อให้ได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่ เป็นการทำให้ทารกรับรู้ถึงความปลอดภัย คุณแม่สามารถอุ้มพวกเขาแนบอกได้นานเท่าที่ต้องการเลยค่ะ เมื่อลูกหลับแล้ว ก็ค่อย ๆ วางลูกน้อยบนเตียง ใช้มือประคองเพื่อให้พวกเขาจนกระทั่งหลังของทารกสัมผัสกับเบาะหรือที่นอน เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกถึงแรงกระแทก เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกผวา และตื่นตกใจได้ค่ะ
การห่อตัวทารัก ซึ่งมีวิธีการห่อตัวหลายรูปแบบ ซึ่งวิธีนี้จะให้ความรู้สึกประหนึ่งยังอยู่ในครรภ์แม่ ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย ลดการผวาได้ อีกทั้งยังทำให้ลูกหลับได้นานอีกด้วยค่ะ
การหาอุปกรณ์กล่อมนอน เช่น เปลไฟฟ้า ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกถึงความผ่อนคลาย นอนหลับง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยเบาแรงให้คุณแม่อีกด้วยค่ะ
หากปฏิกิริยา Moro Reflex ของทารกเป็นไปแบบไม่สมส่วนแล้วล่ะก็ ทารกอาจเกิดการบาดเจ็บตามอวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทส่วนปลายคอหรือกระดุกไหปลาร้าหัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของการที่ทารกมี Moro Reflex ที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองพิการแบบกระตุกได้ค่ะ (3)
ถึงแม้ว่า Moro Reflex จะเป็นปฏิกิริยาปกติต่อสิ่งเร้าของทารก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรหมั่นสังเกต หากรู้สึกว่าผิดปกติ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรปรึกษาทีมแพทย์ เพื่อจะได้เข้าใจว่าปฏิกิริยาปกติมีลักษณะอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่แพทย์และพยาบาลตระหนักดีว่า Moro Reflex แบบไม่สมดุลกันตั้งแต่แรกเกิดสามารถบ่งบอกถึงความเสียหายของเซลล์ประสาท หรือการแตกหักของกระดูกไหปลาร้าได้ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องจำไว้ว่า Moro Reflex ควรหายไป ภายในหกเดือนของทารก เพราะฉะนั้นหากเกิดข้อสงสัยอะไร ก็ควรปรึกษาแพทย์เป็นดีที่สุดค่ะ
1. medlineplus.gov – Infant reflexes
2. University of Rochester Medical Center – Newborn Reflexes
3. ncbi.nlm.nih.gov – Moro Reflex