สาเหตุอาการสะอึก ในทารกแรกเกิด
เมื่อตอนที่แม่คลอดลูกคนแรก การสะอึกของลูกวัยทารกแรกเกิด โดยเฉพาะหลังกินนม แล้วไม่ใช่ปุ๊บปั๊บก็หายสะอึกนะคะ บางครั้งกินเวลาเป็นนาที สองนาที ซึ่งตอนนั้นก็เป็นคุณแม่มือใหม่ อะไรนิดอะไรหน่อยก็กังวลไปหมดล่ะค่ะ ไม่รู้ว่าแม่ ๆ บ้านไหนรู้สึกกังวลใจกับอาการสะอึกในวัยทารกแรกเกิดแบบแม่บ้างน๊า…..แต่เมื่อคุณหมอเข้ามาตอบถึงข้อสงสัยนี้ จึงให้แม่รู้ว่า จริง ๆ แล้วนั้น การสะอึกในทารกนั้นไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงค่ะ ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นหลังกินนมอยู่แล้วค่ะ โดยเฉพาะในช่วงสองสามเดือนแรกหลังคลอด ซึ่งเกิดกจากการที่กระเพาะของเจ้าตัวน้อยขยายตัวหลังจากกินนมอย่างอิ่มหมีพลีมัน เลยทำให้เกิดแรงดันส่งไปที่กล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อเล็ก ๆ ระหว่างช่องปอดกับช่องท้องของพวกเขา นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดเป็นเสียงจากกล้ามเนื้อกะบังลมหดตัวอย่างรวดเร็วฉับพลัน ขณะที่ทารกหายใจออกนั่นเอง จึงทำให้ทารกมีอาการะสะอึก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อทารักค่ะ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลนะคะ (1)
การสะอึกในเด็กเป็นเรื่องปกติ ไหม?
ใช่แล้วล่ะค่ะ จากการศึกษาของในหลาย ๆ แหล่ง บอกเลยค่ะว่าเป็นเรื่องปกติมากที่จะเกิดขึ้นสำหรับทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน แต่จริง ๆ แล้วทารกเริ่มจะสะอึกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่แล้วด้วยซ้ำ (2) แม่จำได้ว่าตอนนั้น นั่งนับการดิ้นของลูก จู่ ๆ เจ้าตัวน้อยก็สะอึกเฉย ๆ แล้ว แม่ก็ทำได้เพียงแค่ช่วยปลอบประโลม ลูบสัมผัสเขาให้รู้สึกปลอดภัยและจนกว่าจะหายสะอึก ไม่รู้แม่ ๆ คนไหนเคยมีโมเม้นต์ลูกสะอึกตอนอยู่ในครรภ์บ้างคะ? เพราะถ้าเคยมี จะรู้ทันทีเลยค่ะว่านี่ไม่ใช่การดิ้นของลูก และเป็นการสะอึกนั่นเอง โดยปกติแล้วลูกน้อยของคุณแม่จะหยุดสะอึกเองภายใจ 5 – 10 นาทีนะคะ แต่หากอาการสะอึกของลูกไม่หยุดภายในสองสามชั่วโมง อันนี้คุณแม่ควรไปพบและปรึกษาแพทย์ค่ะ
ทารกน้อยมันจะสะอึกบ่อยครั้งหลังการให้นม แต่บางครั้งก็จะมีสะอึกโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน ซึ่งการให้นมลูกหรือน้ำนั้นก็สามารถช่วยให้ลูกหยุดสะอึกได้เช่นกันค่ะ หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยของคุณมักจะมีอาการสะอึกระหว่างให้นมแล้วล่ะก็ ลองชะลอการดูดนม เพื่อให้เวลาลูกน้อยได้ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็มีอีกหลายวิธีที่จะช่วยหยุดและคลายการสะอึกของลูกน้อยได้ค่ะ อาทิเช่น
- การเรอให้ทารก
- การให้จุกนมหลอก
- การให้ไก๊รป์วอเตอร์ (Gripe Water)
- การให้ทารกหยุดสะอึกเอง
วิธีแก้ปัญหา ทารกแรกเกิดสะอึก
มาดูเคล็ดลับในแต่ละวิธีกันเลยค่ะ
ทำให้ทารกเรอ
ระหว่างการให้นม หากทารกมีอาการสะอึก คุณแม่ลองให้เขาหยุดพักจากการกินนมสักครู่ เพื่อให้ลูกได้เรอ นี่เป็นวิธีการช่วยกำจัดอาการสะอึกได้อย่างอยู่หมัด เนื่องจากการจับลูกเรานั้น สามารถกำจัดก๊าซส่วนเกินที่ทำให้เกิดอาการสะอึกได้ การจับลูกเรอจะช่วยลดการสะอึกได้เพราะมันจะช่วยให้ทารกอยู่ในท่าเหยียดตรงนั่นเอง อย่าง American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำเลยค่ะว่า คุณแม่ที่ให้นมลูกจากขวดนม จำเป็นต้องจับลูกเรอ ไม่ใช่แค่หลังกินนมเสร็จเท่านั้น แต่ควรทำเป็นระยะ ๆ ในระหว่างการให้นมด้วยค่ะ หรือคุณแม่ที่ให้นมแม่จากเต้า ให้เรอก่อนจะเปลี่ยนไปกินนมอีกข้างค่ะ (3)
ทริคเล็ก ๆ: การลูบหรือตบหลังลูกน้อยเบา ๆ เมื่อลูกสะอึกระหว่างให้นม ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้พวกเขาลดการสะอึกได้ค่ะ
ใช้จุกนมหลอก
อาการสะอึกของทารกไม่ได้เริ่มมาจากการให้นมเสมอไปหรอกนะคะแม่ขา ซึ่งหลาย ๆ ครั้งที่แม่มีการเล่นหยอกล้อกับลูก เมื่อพวกเขาชอบใจและหัวเราะไม่หยุดแล้วนั้น จู่ ๆ อาการสะอึกก็มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย การใช้จุกนมหลอกก็ถือเป็นการช่วยผ่อนคลายกระบังลมและอาจช่วยหยุดการสะอึกได้ค่ะ (3)
ให้ทานไก๊รป์วอเตอร์ (gripe water)
หากคุณแม่จับลูกเรอก็แล้ว ให้จุกหลอกก็แล้ว แต่ทารกน้อยยังคงสะอึกอยู่ คุณแม่อาจจะลองให้ไก๊รป์วอเตอร์ หรือ Gripe Water ซึ่งเป็นน้ำที่มีส่วนผสมชองสมุนไพรและเป็นน้ำสมุนไพรที่หลาย ๆ คนเชื่อกันว่าช่วยแก้อาการจุกเสียดและอาการไม่สบายลำไส้อื่น ๆ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานสนับสนุนก็ตาม แต่จากประสบการณ์ของแม่เองนั้นมันใช้ได้ผลสำหรับลูกแม่จริง ๆ ค่ะ เพราะคุณหมอเองก็เป็นคนแนะนำให้แม่มาอีกทีจ้า ประเภทของสมุนไพรในไก๊รป์วอเตอร์อาจจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ยี่ห้อนะคะ ซึ่งบางตัวจะมีส่วนผสมของขิง ยี่หร่า คาโมไมล์ และอบเชย น้ำไก๊รป์วอเตอร์อาจจะยังไม่ได้รับการแสดงทางการแพทย์ว่าช่วยในการสะอึกในทารก ก่อนที่คุณแม่จะลองใช้กับทารกน้อยนั้น ขอแนะนำให้คุณแม่ลองปรึกษาแพทย์ดูก่อนนะคะ
ทริคเล็ก ๆ : คุณแม่ควรตรวจสอบรายการส่วนผสมของน้ำไก๊รป์วอเตอร์จากเภสัชกรหรือคุณหมอให้แน่ใจก่อนจะตัดสินใจซื้อนะคะ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนนจากพืช เพราะบางครั้งฉลากจะระบุว่า เป็นคาร์โบเฟตาบิลิลหรือถ่านกัมมันต์ แอลกอฮอล์ และซูโครส เพราะส่วนผสมทั้งหมดนี้อาจมีผลเสียกับทารกได้ค่ะ (3)
การให้ทารกหยุดสะอึกเอง
ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีจะสะอึกบ่อยพอสมควร ดังนั้น การปล่อยให้เป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดค่ะคุณแม่ เพราะการสะอึกของทารกจะหยุดได้เอง ถ้าหากเป็นการไม่รบกวนพวกเขา คุณแม่ก็ปล่อยให้พวกเขาสะอึกแล้วหยุดลงด้วยตนเอง แต่เมื่อไหร่ที่การสะอึกดูจะไม่หยุดลงภายหลังหลายชั่วโมง ซึ่งแม้จะพบได้น้อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณแม่เห็นว่าผิดสังเกตแล้วล่ะก็ ควรปรึกษาแพทย์นะคะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางการแพทย์ที่อาจจะร้ายแรงได้ (3)
วิธีป้องกันการสะอึกในทารก
แม่ก็มีวิธีที่จะช่วยป้องกันอาการสะอึกได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นการยากที่จะป้องกันการสะอึกในทารกแรกเกิดได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากสาเหตุยังไม่ชัดเจน แต่ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้เพื่อช่วยป้องกันอาการสะอึกได้ค่ะ
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกน้อยของคุณไม่อยู่ในอารมณ์ที่หงุดหงิดหรือร้องไห้งอแงก่อนจะเริ่มให้นม
- หลังจากการให้นม ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่หนักหน่วงกับลูกน้อยของคุณ เช่นการจับลูกเล่นกระเด้งขึ้นลง
- ให้ทารกอยู่ในท่าตั้งตรงเป็นเวลา 20 – 30 นาทีหลังการให้นมหรืออาหารแต่ละมื้อ
วิธีแก้ปัญหาการสะอึก ในเด็กโต
การสะอึกไม่ได้เกิดแค่ในทารกแรกเกิดเท่านั้นนะคะ สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็มีอาการสะอึกได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าอาการสะอึกมันกจะหยุดได้เอง แม้ว่าจะมีวิธีแก้ปัญหามากมายสำหรับการสะอึก แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มากนัก แต่คุณแม่ก็สามารถนำวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ไปลองใช้กันดูก็ได้นะคะ (2)
- ค่อย ๆ จิบน้ำเย็น ๆ
- กลั้นหายใจเป็นเวลาสั้น ๆ
- ออกแรงกดจมูกเบา ขณะกลืน
- ค่อย ๆ ดันกะบังลม
- กัดเลม่อน
- จิบน้ำส้มสายชู
- หายใจเข้าไปในถุงกระดาษ (แต่อย่าคลุมถุงกระดาษลงบนศีรษะนะคะ)
- ดึงเข่าขึ้นมาที่หน้าอก
- โน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อกดหน้าอกไว้
จริงอยู่ที่คุณแม่อย่างเราอาจจะคิดว่าอาการสะอึกมันสร้างความรำคาญหรือไม่สบายตัวให้กับลูกน้อย เพราะเวลาเราเองที่สะอึกแต่ละครั้ง ก็สร้างความรบกวนใจไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ อย่างไรก็ตามการสะอึกก็ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือรบกวนพวกเขาเลยด้วยซ้ำ เด็กทารกหลาย ๆ คนยังสามารถนอนหลับทั้ง ๆ ที่สะอึกอยู่ อีกทั้งยังไม่มีผลต่อการหายใจของทารกด้วยค่ะ คุณแม่สบายใจได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่สนับสนุนว่าการสะอึกนี่แหละค่ะมีความสำคัญต่อการพัฒนาการด้านสมองและการหายใจของทารก
และเมื่อไหร่ที่คุณแม่รับรู้การสะอึกของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ ก็คลายกังวลไปได้เลยค่ะ เพราะนั่นกำลังส่งสัญญาณให้คุณแม่รู้ว่า เจ้าตัวน้อยที่ดิ้นกระดุ๊กกระดิ๊กอยู่ในท้อง กำลังมีพัฒนาไปอีกหนึ่งขั้นแล้วล่ะค่ะ(3)
Resources: