คุณแม่ทราบมั้ยคะว่า สมองของลูกน้อยกว่า 80% นั้นจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วไปจนเมื่ออายุ 3 ขวบเลยทีเดียว แต่ในช่วงขวบปีแรกนี่แหละค่ะ ที่สมองของลูกน้อยจะเริ่มพัฒนาในหลาย ๆ ทักษะอย่างที่คุณแม่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทักษะในด้านความจำ ภาษา การคิด และการใช้เหตุผล ลูกน้อยจะเรียนรู้โดยการสำรวจโลก นั่นคือการสังเกตจากสิ่งรอบตัวของพวกเขา และลูกน้อยจะฟังคุณแม่และเริ่มเข้าใจได้ว่าคุณแม่ใช้ชื่ออะไรแทนอะไรบ้าง เช่น ใช้คำนี้ในการแทนการเรียกชื่อของสิ่งของต่าง ๆ หรือ คำนั้น ๆ สำหรับเรียกชื่อผู้คน เป็นต้น นอกจากนี้นะคะ ลูกน้อยสามารถเรียนรู้และสัมผัสได้ถึงความรัก ความไว้ใจที่คุณแม่แสดงออกกับพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยวิธีสวมกอดหรือการเล่นกับลูกน้อยนั่นเองค่ะ (1)
ก้าวเล็ก ๆ แต่ไม่เล็ก ที่คุณแม่ทำในตอนนี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะส่งต่อความสำเร็จให้ลูกน้อยในอนาคตได้ ขั้นตอนง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่ได้ตรวจสอบลูกน้อย ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จทั้งในโรงเรียนและชีวิต มีดังนี้ค่ะ
ขั้นตอนสำคัญสำหรับขวบปีแรก จะมี 4 ประเด็นหลัก ๆ อันประกอบไปด้วย: (1)
1. พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์
2. การพัฒนาทางด้านภาษาและการสื่อสาร
3. การพัฒนาความรู้และความเข้าใจ เช่น การเรียนรู้ในเรื่องการแก้ปัญหาต่าง ๆ
4. การเคลื่อนไหวและพัฒนาการทางด้านร่างกาย
แน่นอนค่ะว่าพัฒนาการชองลูกน้อยย่อมสังเกตได้ในแต่ละเดือน ๆ ไป เหตุการณ์สำคัญ ๆ ต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณแม่ได้ทำเช็คลิสต์ไว้ว่าลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่ค่ะ (2)
เดือนที่ 1
- สามารถยกศีรษะได้ชั่วขณะ
- หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งได้เมื่อนอนหงาย
- กำมือแน่น
- มีปฏิกิริยาการสะท้อนกลับอย่างเห็นได้ชัด เช่น การกำมือ
- ดูและติดตามวัตถุที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ในระยะ 45 องศา
- การมองเห็นจะเป็นในรูปแบบสีดำและสีขาว
- เงียบเมื่อได้ยินเสียง
- ร้องไห้เพื่อแสดงความไม่พอใจ หรือ อึดอัด
- ทำเสียงในคอ
- ดูพ่อแม่อย่างตั้งใจเมื่อมีการพูดคุยกัพวกเขา
เดือนที่ 2
- ยกศีรษะเกือบ 45 องศาเมื่อนอนคว่ำ
- ศีรษะหันไปข้างหน้าเมื่ออยู่ในท่านั่ง
- มีปฏิกิริยาการสะท้อนกลับ เช่น การกำมือ ลดลง
- ติดตามสิ่งของที่ห้อยด้วยสายตา
- ค้นหาเสียงด้วยสายตา
- ส่งเสียงอย่างอื่น นอกเหนือจากการร้องไห้
- เสียงร้องมีลักษณะเด่นชัดขึ้น เช่น ผ้าอ้อมเปียก หิว เป็นต้น
- เปล่งเสียงออกมา เมื่อได้ยินเสียงที่คุ้นเคย
- รอยยิ้มทางสังคมจะแสดงให้เห็นโดยเฉพาะเวลาเล่นกับคุณพ่อคุณแม่และมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ
เดือนที่ 3
- เริ่มรับน้ำหนักบางส่วนที่ขาทั้งสองข้างได้ เมื่ออยู่ในท่ายืน
- สามารถยกศีรษะขึ้นได้เมื่อนั่ง แต่ก็ยังไม่มั่นคง
- เมื่อนอนคว่ำ สามารถยกศีรษะและไหล่ได้ระหว่าง 45 ถึง 90 องศา
- แบกรับน้ำหนักที่ปลายแขน
- ปฏิกิริยายาการสะท้อนกลับ เช่น การกำมือ จะหายไป
- ถือวัตถุได้ แต่ยังเอื้อมไม่ถึง
- ใช้มือกำผ้าห่มและเสื้อผ้าได้
- ติดตามวัตถุได้ 180 องศา
- ค้นหาเสียงโดยการหันศีรษะและมองไปในทิศทางเดียวกัน
- ส่งเสียงอ้อแอ้ หัวเราะเบา ๆ ได้
- จดจำใบหน้า เสียง และวัตถุได้
- เริ่มอยากคุยเมื่อได้ยินเสียงทักทาย
- ยิ้มเมื่อเห็นคนคุ้นเคย และมีการเล่นหยอกล้อกับพวกเขา
- แสดงอาการถึงการรับรู้ได้ในสถานการณ์ที่ผิดปกติ
เดือนที่ 4
- มีน้ำลายไหลเริ่มขึ้น
- การควบคุมศีรษะดีขึ้น
- นั่งได้แต่ต้องมีการสนับสนุน
- แบกรับน้ำหนักขาของตนเองได้ เมื่อยืนตัวตรง
- ยกศีรษะและหน้าอกขึ้นจากพื้นผิวเป็นมุม 90 องศา
- ม้วนหรือพลิกตัวจากด้านหลังไปอีกด้านหนึ่ง
- ชอบสำรวจและเล่นกับมือมากขึ้น (จะเห็นว่าลูกชอบเอากำปั้นเข้าปาก)
- พยายามที่จะเข้าถึงวัตถุ แต่อาจจะพลาดเป้าได้
- จับวัตถุด้วยมือทั้งสองข้าง
- ตาและมือทำงานประสานกัน
- มีการเล่นคำ เล่นเสียง
- หัวเราะ
- สนุกกับการโยก เด้ง หรือ เหวี่ยงเบา ๆ
เดือนที่ 5
- สัญญาณการงอกของฟันเริ่มขึ้น
- ยกศีรษะขึ้นเมื่อนั่ง
- ม้วนหรือพลิกตัวจากท้องไปด้านหลัง
- สามารถยกเท้าเข้าปากได้เมื่อนอนหงาย
- จับแต่ถือสิ่งของได้นานขึ้น
- ชอบเล่นกับนิ้วเท้า
- นำสิ่งของหรือวัตถุเข้าปากโดยตรง
- ดูตามสิ่งของที่ตกหล่นได้
- พูดส่งเสียง หรือ ผสมเสียงสระ หรือพยัญชนะที่คล้ายกันได้ เช่น อู อ้า , กา ก๊า
- ยิ้มให้กับภาพสะท้อนในกระจก
- อารมณ์เสีย หงุดหวิด ถ้าคุณขัดใจ หรือ เอาของเล่นพวกเขาไป
- สามารถบอกว่านี่คือคนในครอบครัวหรือคนแปลกหน้าได้
- เริ่มค้นพบส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของพวกเขา
เดือนที่ 6
- เกิดการเคี้ยวและกัด
- เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ พวกเขาสามารถยกหน้าอกและส่วนหนึ่งของท้องออกจากพื้นผิวที่สัมผัสอยู่ โดยแบกน้ำหนักไว้ที่มือ
- ยกศีรษะได้ดี เมื่อยู่ในท่านั่ง
- ม้วนหรือพลิกตัวจากหลังถึงท้อง
- แบกรับน้ำหนักส่วนใหญ่ได้เมื่ออยู่ในท่ายืน
- จับและควบคุมวัตถุขนาดเล็กได้
- ถือขวดนมเองได้
- คว้าเท้าและดึงเท้าเข้าปากได้
- ปรับร่างกายได้คล่องขึ้น
- หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง แล้วมองขึ้นลงได้
- ชอบสิ่งเร้าทางสายตาที่ซับซ้อนมากขึ้น
- พูดเสียงพยางค์เดียวได้เช่นพ่อแม่ม๊า
- รู้จักพ่อแม่
เดือนที่ 7
- นั่งได้โดยไม่ต้องพยุง และบางคนอาจสามารถโน้มตัวไปข้าวหน้าด้วยมือทั้งสองข้างได้
- แบกรับน้ำหนักได้เต็มเท้า
- กระโดดเด้งได้เมื่ออยู่ในท่ายืน
- แบกน้ำหนักไว้ที่มือข้างเดียว เมื่อนอนคว่ำ
- สามารถเคลื่อนไหววัตถุหรือสิ่งของจากมือข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งได้
- สามารถนำวัตถุมาเคาะกันได้
- สามารถนำวัตถุขนาดเล็กมาติดกันได้
- ตอบสนองต่อชื่อตนเองได้
- การรับรู้ถึงความลึกและพื้นที่ต่าง ๆ เริ่มต้นขึ้น
- มีสิ่งของที่โปรดปราน
- พูดคุยโดยการเปล่งเสียง เมื่อคนอื่นกำลังพูด
เดือนที่ 8
- นั่งได้ดีโดยไม่ต้องมีการสนับสนุนหรือพยุง
- แบกรับน้ำหนักที่ขาและอาจยืนจับเฟอร์นิเจอร์
- ปรับท่าทางในการเข้าถึงวัตถุ
- หยิบจับสิ่งของโดยใช้นิ้วมือต่าง ๆ ได้
- สามารถปล่อยสิ่งของหรือวัตถุได้
- สามารถดึงเชือกหรือสายต่าง ๆ ที่ติดกับวัตถุได้
- เข้าถึงของเล่นที่อยู่ไกลเกินเอื้อมได้
- เลือกฟังคำศัพท์ที่คุ้นเคย
- เริ่มการรวมพยางค์ เช่น มาม๊า ปาป๊า แต่บางคำอาจไม่มีความหมาย
- เข้าใจคำว่า “ไม่” แต่อาจไม่เชื่อฟังเสมอไป
- ไม่ชอบที่จะเปลี่ยนผ้าอ้อมและแต่งตัว เพราะเริ่มขยับตัวและเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น
เดือนที่ 9
- เริ่มต้นเก็บข้อมูลต่าง ๆ การเลียนแบบเกิดขึ้นจากจุดนี้
- ลุกขึ้นจากท่านั่งได้
- นั่งเป็นเวลานาน เช่น 10 นาที
- อาจชอบเล่นด้วยมือเดียว
- ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ในการหยิบวัตถุหรือสิ่งของได้ดี
- ตอบสนองต่อคำสั่งด้วยคำพูดง่าย ๆ ได้
- เข้าใจความหมายของคำว่า “ไม่”
- เพิ่มความสนใจในการทำให้พ่อแม่พึงพอใจ (ขี้อ้อนมากขึ้นนั่นเอง)
- วางแขนไว้บนหน้า เพื่อให้ทราบว่า หนูไม่อยากล้างมือ
เดือนที่ 10
- เปลี่ยนจากท่าคว่ำท้องไปสู่ท่านั่งได้ดี
- ลุกขึ้นนั่งได้ ถึงแม้จะล้มลงอยู่
- นั่งได้โดยไม่ล้ม มีความสมดุลในขณะนั่ง
- ยกเท้าข้างหนึ่งเพื่อก้าว และอาจก้าวหนึ่งหรือสองก้าวขณะยืน
- เข้าใจคำง่าย ๆ ได้ เช่น บ๊าย บาย
- พูดคำว่า แม่ พ่อ มาม๊า ปาป๊า โดยรู้ความหมายของคำได้
- โบกมือลาได้
- เล่นเกมโต้ตอบได้ เช่น จ๊ะเอ๋
- สนุกกับการอ่านและติดตามภาพในหนังสือ
- เริ่มกระทำในสิ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจจากพ่อแม่ได้
เดือนที่ 11
- ก้าวเดินได้โดยใช้สองมือถือและจับเฟอร์นิเจอร์หรือวัตถุหรือสิ่งของอื่นๆ
- วางวัตถุหรือสิ่งของเล็ก ๆ ลงในภาชนะได้
- เอี้ยวตัวกลับไปหยิบวัตถุได้ขณะนั่ง
- สำรวจวัตถุต่าง ๆ อย่างละเอียดยิ่งขึ้น
- สามารถจัดการการนำวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ ออกจากข่องว่างที่คับแคบได้
- กลิ้งลูกบอลไปมาได้
- รู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ทำอะไรที่ตัวเองได้ควบคุม หรือเป็นใหญ่
- รู้สึกหงุดหงิดเมื่อถูกจำกัด
- ส่ายหัวเพื่อให้รู้ว่า “ไม่ ๆ” “no no”
เดือนที่ 12
- เดินได้ด้วยการจับมือหนึ่งปล่อยมือหนึ่ง
- อาจลึกยืนเองได้ด้วยตนเอง และพยายามก้าวก้าวแรกด้วยตัวเอง
- นั่งลงจากท่ายืนโดยไม่ต้องช่วยเหลือ
- พยายามต่อบล็อคหรือสิ่งของต่าง ๆ เป็นชั้น ๆ ได้ แต่อาจไม่สำเร็จ
- เปลี่ยนหน้าหนังสือได้
- ติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
- พูด 3 คำขึ้นไป นอกเหนือจาก พ่อ แม่ ป๊า ม๊า
- เข้าใจความหมายของคำหลาย ๆ คำ
- พูดคำเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก
- เลียนเสียงได้ เช่น เสียงสุนัข เสียงแมว
- รับรู้วัตถุสิ่งของตามชื่อเรียก
- เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ด้วยคำพูด
- แสดงความรัก เช่น การจูบ การกอด
- แสดงความเป็นอิสระเมื่ออยู่ในสถานที่หรือสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย
- อยู่ติดกับพ่อแม่ในสถานการณ์แปลก ๆ
- ค้นหาวัตถุ ของเล่น หรือ สิ่งของต่าง ๆ ที่พบเห็นครั้งสุดท้ายด้วยตนเอง
ถึงแม่ว่าเหตุการณ์สำคัญที่ระบุไว้ในแต่ละเดือนอาจจะบรรลุเป้าหมายและลูกน้อยมีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีพัฒนาการสมวัย แต่เด็ก ๆ แต่ละคนก็อาจมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป หากลูกน้อยของคุณแม่ยังไม่มีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญ ๆ ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามีบางอย่างผิดปกติ ลูกน้อยอาจจะพัฒนาทักษะเหล่านี้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่หากคุณแม่รู้สึกกังวล ก็ให้ลองปรึกษากุมารแพทย์ของลูกน้อย เพราะความล่าช้าอาจบ่งบอกถึงปัญหาต่าง ๆ ได้ อย่างทารกที่คลอดก่อนกำหนด มักจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน เป็นต้น (1) นอกจากนี้การที่คุณแม่ได้ทราบถึงพัฒนาการลูกน้อยในแต่ละเดือน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้คุณแม่ได้คอยเฝ้าระวัง และกระตุ้นให้ลูกน้อยได้มีพัฒนากรที่ดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้คุณแม่ชื่นใจสุด ๆ นั่นก็คือการที่คุณแม่ได้เห็นการพัฒนาการของลูกน้อยตลอดทางนั่นเองค่ะ
อ้างอิง
(1) Development And Milestones For Infants
(2) First Year Infant Development